ชาวเมืองเชียงใหม่มักรู้จักหลวงพ่อขาว พระพุทธรูปทาสีขาวตั้งอยู่ในวิหารหลังเล็กประดิษฐานอยู่ข้างศาลากลางจังหวัดหลังเก่า หลวงพ่อขาวเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างโดยพระเจ้ากาวิละสมัยเมื่อขับไล่พม่าออกและฟื้นเมืองเชียงใหม่ โดยสร้างพร้อมกับบูรณะวิหารวัดอินทขิลซึ่งต่อมาขาดการทำนุบำรุงกลายเป็นวัดร้าง ยังคงเหลือหลวงพ่อขาวประดิษฐานอยู่ในวิหารเล็ก
ปี พ.ศ.๒๕๒๒ มีการสร้างกรงเหล็กปิดกั้นไว้โดยนายธวัช แผ่ความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายมาขุดเจาะทำลายองค์หลวงพ่อขาวเพื่อค้นทรัพย์สินมีค่า ต่อมาประชาชนเรียกร้องให้รื้อกรงเหล็กออกเพราะเมื่อมากราบไหว้สักการะแล้วเหมือนหลวงพ่อขาวถูกกักขังลงทัณฑ์
กรงเหล็กหลวงพ่อขาวได้รับการรื้ออย่างจริงจังโดยนายสุรชาติ ศิวิลัย ส.จ.เชียงใหม่เขตอำเภอสารภีนำข้อร้องเรียนจากประชาชนมาเสนอเป็นญัตติด่วนในการประชุมสภาจังหวัดเชียงใหม่ที่มีนายบรรจบ ลิ้มจรูญ เป็นประธานสภา และทางสภาจังหวัดเชียงใหม่มีมติให้ทางจังหวัดเชียงใหม่รับดำเนินการรื้อ
หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันที่ ๑๗ มิ.ย.๒๕๓๖ ลงรายละเอียดเรื่องนี้ว่า “หลวงพ่อขาวพ้นกรงเหล็ก หลังโดนขังลืมนาน ๑๔ ปี ชาวบ้านสุดทนร้องเรียน สื่อมวลชนคอยกระทุ้งย้ำ ศิลปากรรับดำเนินการรื้อถอนแล้วกรงเหล็กขังหลวงพ่อขาว ประชาชนชาวเชียงใหม่ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน ขอให้ทางราชการรื้อออกเพราะเห็นว่าไม่สมควร ส.จ.นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาจังหวัด มีมติเห็นชอบให้จังหวัดดำเนินการ มีการมอบหมายให้หน่วยศิลปากรร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการ
เมื่อเช้าวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๖ นายเข็มชาติ เทพชัย หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ ๔ เชียงใหม่ร่วมกับทางเทศบาลนครเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดทำพิธีรื้อถอนกรงเหล็กล้อมรอบหลวงพ่อขาวซึ่งตั้งอยู่ริมถนนอินทวโรรส ข้างหอประชุมติโลกราช มีการเชิญนายทิว วิชัยขัทคะ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีผู้อาวุโสของจังหวัดเชียงใหม่ มาทำพิธีบอกกล่าวขอขมาตามประเพณีโบราณ จากนั้นจึงทำการรื้อกรงเหล็ก
การรื้อกรงเหล็กครั้งนี้เนื่องจากหลวงพ่อขาวเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยเชียงแสนสร้างมานานเกือบ ๗๐๐ ปี ตั้งอยู่บริเวณวัดสะดือเมืองและวัดอินทขิล รวม ๒ วัด จากหลักฐานยังไม่แน่ชัดว่าหลวงพ่อขาวจะเป็นพระประธานของวัดใด ซึ่งปัจจุบันบริเวณสถานทั้ง ๒ วัดดังกล่าวเป็นที่ของศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเก่า และหอประชุมติโลกราช ซึ่งทางกรมศิลปกรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
ต่อมาในช่วงปี ๒๕๒๒ มีโจรผู้ร้ายชุกชุม โดยมักจะมีการโจรกรรมตัดเศียรพระพุทธรูปและขุดเจาะเอาทรัพย์สินมีค่าในองค์พระพุทธรูป จนวัดต่างๆ ต้องหาทางป้องกัน มีการจัดเวรยามเฝ้าดูแล ประกอบกับมีเสียงลือกันว่าหลวงพ่อขาวเป็นพระทองคำ มีการนำเอาปูนซิเมนต์ฉาบหุ้มด้านนอกเอาไว้ นายธวัช แผ่ความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้นกลัวว่าโจรผู้ร้ายจะมาขโมยขุดเจาะและตัดเศียรหลวงพ่อขาว จงได้สร้างกรงเหล็กล้อมเอาไว้อย่างแน่นหนา
ต่อมาประชาชนที่มากราบไหว้บูชาและที่ผ่านไปมาต่างเห็นว่าไม่เหมาะสมเสมือนกับว่าหลวงพ่อขาวถูกลงทัณฑ์ขังเอาไว้ในกรงเหล็ก จึงร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนเรียกร้องให้ทางราชการเปิดกรงเหล็กกั้นออก ต่อมาในปี ๒๕๒๗ จังหวัดเชียงใหม่ได้เชิญเจ้าหน้าที่ศิลปากรมาเจาะตรวจองค์หลวงพ่อขาวและพระบริวารอีก ๒ องค์ ปรากฏว่าไม่พบทองคำตามคำเล่าลือแต่อย่างใด จังหวัดจึงรับปากว่าจะเปิดลูกกรงออก แต่เรื่องได้เงียบหายไปจนถึงปัจจุบัน โดยมีเสียงเรียกร้องของประชาชนให้รื้อกรงเหล็กออกเป็นระยะๆ
ต่อมาเมื่อมีการประชุมสภาจังหวัดสมัยวิสามัญเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายสุรชาติ ศิวิลัย ส.จ.เชียงใหม่เขตอำเภอสารภีซึ่งทราบข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาจังหวัดเป็นญัตติด่วนเสนอต่อนายบรรจบ ลิ้มจรูญ ประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่ บรรจุเป็นญัตติด่วนเข้าประชุม จนมีมติให้จังหวัดดำเนินการรื้อกรงเหล็กออกตามคำเรียกร้องของประชาชนชาวเชียงใหม่ ทางจังหวัดรับดำเนินการ จึงมอบให้กรมศิลปากรดำเนินการเปิดกรงเหล็กในที่สุด
ขณะเดียวกันนายเข็มชาติ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อเปิดกรงเหล็กออกแล้วจะมีการทำความสะอาดองค์พระพุทธรูปและบูรณะวิหารที่ประดิษฐานให้มีความสวยงามในแบบศิลปลานนาไทย พร้อมทั้งจะมีการติดตั้งไฟฟ้าให้สว่าง โดยจะใช้งบประมาณตามโครงการบูรณะบริเวณวัดสะดือเมืองและวัดอินทขิล เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและให้ทันงานฉลองครบรอบ ๗๐๐ ปีของเชียงใหม่”
เมื่อการรื้อกรงเหล็กหลวงพ่อขาวออกในปี พ.ศ.๒๕๓๖ แล้ว หลังจากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๔๘ จึงมีการฟื้นวัดอินทขิลขึ้น ได้รับอนุญาตยกเป็นวัดอินทขิลในปี พ.ศ.๒๕๕๐ บริเวณวิหารหลวงพ่อขาวนี้ ในอดีตเคยเป็นวัดอินทขิลและวัดสะดือเมือง สร้างโดยพญามังรายไม่มีหลักฐานวันเดือนปีที่สร้างที่แน่ชัด ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๙ สมัยที่พระเจ้ากาวิละขับไล่พม่าและมาฟื้นเมืองเชียงใหม่ ได้สร้างวิหารอินทขิลและสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นที่บูชาสักการะ มีการจัดพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ หลังจากนั้นวัดอินทขิลเจริญรุ่งเรืองมีพระจำพรรษามาโดยตลอด จนต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง (โบราณสถานสะดือเมืองและวัดอินทขิล,พระครูอดุลสีลกิตติ์รวบรวม,เอกสารประกอบการพิจารณาขอยกวัดร้างวัดอินทขิลสะดือเมือง)
เมื่อวัดอินทขิลกลายเป็นวัดร้าง ทางราชการจึงใช้เป็นที่ทำการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด สร้างเป็นที่ทำการและห้องประชุมใช้ชื่อว่า ห้องประชุมติโลกราช
วัดอินทขิล มีความสำคัญเพราะเป็นวัดที่เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองเชียงใหม่ที่เรียกว่าสะดือเมือง สร้างโดยพญามังรายผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ ต่อมาทางจังหวัดเชียงใหม่, คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่, สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่, เทศบาลนครเชียงใหม่, กรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบูรณะยกเป็นวัดอินทขิลมีพระสงฆ์อยู่จำวัด มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการยกวัดร้าง(อินทขิล)ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาขึ้นและมีมติเห็นชอบยกวัดอินทขิล(ร้าง)ให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๔๘ และทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ออกประกาศยกวัดอินทขิลเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ ปัจจุบันหลวงพ่อขาวประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำทรงล้านนาที่สวยงาม มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปกราบสักการะอยู่เสมอ
พล.ต.ต.อนุ เนินหาด เรียบเรียง
Like (0)