หน้าแรก ซะป๊ะ...เรื่องเก่า เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ | พิธีใหญ่ถวายสะหลุงหลวงพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖

เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ | พิธีใหญ่ถวายสะหลุงหลวงพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖

502
0

เมื่อวันที่ ๔ และวันที่ ๕ มีนาคม ปี พ.ศ.๒๕๓๖ จังหวัดเชียงใหม่นำโดย นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จัดพิธีใหญ่ครั้งสำคัญของเชียงใหม่ คือ พิธีถวายสะหลุงเงินใหญ่แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบในปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยสะหลุงเงินมีน้ำหนักเท่าปี พ.ศ. คือ ๒,๕๓๕ กรัม
สื่อมวลชนรายงานข่าวสำคัญนี้ว่า “พิธีใหญ่วันนี้ถวายสะหลุงแด่สมเด็จพระราชินี ผู้ว่าฯ นำผู้แทนมวลชนเข้าเฝ้าฯน้อมเกล้าฯ ชาวเชียงใหม่ร่วมพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายสะหลุงหลวงทำด้วยเงินแท้หนัก ๒,๕๓๕ บาท แด่สมเด็จพระราชินีในวันนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญอีกงานหนึ่งของเชียงใหม่นับแต่อดีตมา

นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผวจ.เชียงใหม่ แถลงว่าในวันที่ ๔-๕ มีนาคมนี้ มีงานสำคัญสำหรับประชาชนชาวเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยเป็นพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายสะหลุงหลวงที่สร้างด้วยเงินแท้หนัก ๒,๕๓๕ บาท จากเงินบริจาคของพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในวโรกาสที่พระองค์ทรงเจริญประชนมพรรษาครบ ๕ รอบ พ.ศ.๒๕๓๕ ในวันที่ ๔ มีนาคม จัดพิธีสมโภชสะหลุงหลวง ณ ลานพระราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น.เป็นต้นไป มีพิธีร่ายคำขอพระบรมราชานุญาต จัดทำพิธีบายศรีและสมโภช พระสงฆ์ ๕ รูป ทำพิธีสวดถอนสิ่งไม่ดีไม่งามออกจากสะหลุงหลวง เสร็จแลวมีพิธีเรียกขวัญชาวเชียงใหม่มาร่วมกันอยู่ที่สะหลุงหลวง จนถึงเวลา ๑๙.๐๐ น. ก็มีพิธีลั่นฆ้อง ตีกลอง ระฆังพร้อมกันทุกวัดทั่วจังหวัดเชียงใหม่ พระเถระ ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์เป็นเสร็จพิธี

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่าในวันที่ ๕ มีนาคม จะมีพิธีตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. อัญเชิญสะหลุงหลวงขึ้นรถยนต์เดินทางไปยังประตูด้านหน้าพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ โดยจัดรูปขบวนตามแบบที่กำหนดคาดว่า ๑๕.๐๐ น.ขบวนรถยนต์อัญเชิญสะหลุงหลวงถึงประตูทางเข้าพระตำหนักฯ เมื่อพร้อมกันแล้วในเวลา ๑๖.๐๐ น. เริ่มพิธีซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของประชาชนทุกหมู่เหล่าของชาวเชียงใหม่ทั้งภาคราชการและเอกชนประมาณ ๕๐๐ คนตั้งขบวนพร้อมกันแล้วเคลื่อนเข้าประตูพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เวลา ๑๗.๓๕ น. ขบวนถึงบริเวณสวนดอกไม้หน้าพระตำหนักฯ และเริ่มพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายสะหลุงหลวงตามลำดับ คือ

เมื่อเจ้านายฝ่ายเหนือเข้าประจำที่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และคณะเข้าประจำที่ ช่างฟ้อนเดินถึงสะพานเข้าสู่สนามหญ้า จับคู่ฟ้อนโดยแบ่งเป็น ๒ ปีกๆ ละ ๑๕ คู่ เมื่อฟ้อนเสร็จแล้วให้นั่งลงและกราบถวายบังคม จากนั้นขบวนเครื่องสักการะแคร่หามสะหลุงหลวงและขบวนเครื่องยศสะหลุงหลวงเข้าสู่บริเวณพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวคำกราบบังคมทูลคณะบุคคลเชิญเครื่องราชสักการะ มีพิธีร่ายคำถวายสะหลุงหลวงเป็นภาษาพื้นเมือง จบแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ทูลเกล้าฯ ถวายเงินและหนังสือที่ระลึกการจัดทำสะหลุงหลวงเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษามหาราชินี แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ทอดพระเนตรสะหลุงหลวง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเสร็จพิธีการ

นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ กล่าวว่าในวันที่ ๕ มีนาคมของหลายปีเป็นวันประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อชาวเชียงใหม่มาก คือ ในอดีตเมื่อ ๕ มีนาคมของ ๖๐ ปีก่อนนั้นมีพิธีรับเสด็จฯ ในการเสด็จฯ สู่มณฑลพายัพ พอมาถึงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๕ ชาวเชียงใหม่ก็ได้จัดพิธีทูลพระขวัญวโรกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ แด่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถและวันที่ ๕ มีนาคมปีนี้ก็คือพิธีน้อมเกล้าฯถวายสะหลุงหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ยังกล่าวด้วยว่า ได้รับแจ้งจากท่านผู้หญิงผู้สนองพระโอษฐ์ว่า ในพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายสะหลุงหลวงครั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงทราบและตรัสด้วยความปลื้มพระทัยว่า พี่น้องชาวเชียงใหม่พร้อมใจกันถวายพระเกียรติทุกปี”(นสพ.ไทยนิวส์,๖ มี.ค.๒๕๓๖)

สะหลุงหลวงทำด้วยเงินแท้ใบนี้สร้างขึ้นด้วยฝีมือของช่างบ้านวัวลายซึ่งมีฝีมือด้านการแกะสลักเครื่องเงินมาตั้งแต่อดีต ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ คือเมื่อ ๓๐ ปีที่ผ่านมา เครื่องเงินของบ้านวัวลายได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาก

ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นช่างแกะลายสะหลุงหลวงใบนี้คือ สล่ามานพ ไชยแก้ว ปัจจุบันอายุ ๘๒ ปี(เกิด พ.ศ.๒๔๘๖) เป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวน ๖ คนของนายอิ่นแก้ว ไชยแก้วและนางจันทร์เป็ง ไชยแก้ว วัยเด็กเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๒ จากโรงเรียนบูรณศักดิ์ ออกจากโรงเรียนมาบวชเณร ๒ ปี สึกมาแล้วมามีอาชีพแกะสลักทำเครื่องเงินโดยเรียนรู้จากญาติคือ สล่าศรี จิโนรสและสล่าทองคำ จิโนรสซึ่งเป็นน้องชายของแม่ เริ่มยึดอาชีพแกะสลักเครื่องเงินมาตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี

สล่ามานพ ไชยแก้ว เล่าความทรงจำเกี่ยวกับรับหน้าที่เป็นช่างแกะลวดลายสะหลุงหลวงที่เป็นประวัติศาสตร์ของบ้านวัวลายว่า

“ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ขณะนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ มีพระชนม์ ๖๐ พรรษา ทางจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับชุมชนบ้านวัวลายร่วมกันจัดสร้างสะหลุงหลวงด้วยเงินแท้เพื่อถวายแด่พระองค์ ขณะนั้นผมอายุ ๕๑ ปี ผู้ที่เป็นผู้นำของบ้านวัวลายคือ นายดวงจันทร์ สุวรรณเนตร เป็นเจ้าของร้านสยามซิลเวอร์แวร์ สมัยนั้นเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุดของบ้านวัวลายที่มีโรงงานผลิตเครื่องเงินและมีร้านจำหน่าย แต่ละวันมีรถบัสพานักท่องเที่ยวมาชมการผลิตเครื่องเงินและมาซื้อเครื่องเงินจำนวนมาก ร้านและโรงงานอยู่ใกล้วัดหมื่นสาร ต้องเช่าบริเวณวัดหมื่นสารเพื่อใช้เป็นที่จอดรถบัสของนักท่องเที่ยว”

“ด้านค่าใช้จ่ายนั้นนายดวงจันทร์ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งและมีการรับบริจาคจากชาวเชียงใหม่ทั่วไปอีกส่วนหนึ่ง ใช้เงินแท้หนัก ๒,๕๓๕ กรัมเพื่อตีและแกะสลักเป็นสะหลุงหลวงเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร ๒๐ เซนติเมตร ทำการหลอมเงินที่วัดหมื่นสารและแกะสลักลวดลายที่ร้านสยามซิลเวอร์แวร์ข้างวัดหมื่นสาร นายดวงจันทร์เป็นผู้พิจารณาจ้างช่างในการผลิตแยกเป็น ๒ ส่วนคือ คนที่ทำหน้าที่เป็นช่างตีขึ้นรูปสะหลุงมี ๔ คน คือ สล่าสมเพชร, สล่าธงชัย(ควาย), สล่าคำตั๋น สุรินทร์และสล่าสมศักดิ์ นันทาราม จากเงินที่เป็นก้อนตีขึ้นรูปเป็นสะหลุง ใช้เวลา ๑ เดือนเศษ

“ส่วนช่างแกะสลักลวดลาย นายดวงจันทร์จ้างผมทำหน้าที่นี้ เรียกว่า ตอกลาย ขณะนั้นผมมีฝีมือด้านการแกะลายดีเป็นอันดับต้นๆ ของบ้านวัวลาย แต่มีคนที่ฝีมือดีกว่าผมก็มีแต่เขาไม่รับงาน วิธีการคือ ตอกจากด้านในให้ลายนูนมาด้านนอก ลวดลายเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ออกแบบมาโดยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา แยกเป็น ๔ ส่วน(๔ ช่อง) นำมาแกะเป็นลวดลายที่ตัวของสะหลุงหลวง

“ผมใช้เวลาแกะลวดลายทุกวันรวม ๖ เดือนก็เสร็จสมบูรณ์ ด้านรายละเอียดโดยเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในส่วนแรกผมแกะได้เหมือนภาพที่ออกแบบมา แต่ส่วนที่ ๒-๔ ผมทำไม่เหมือน จึงขอให้สล่าดิเรก สิทธิการ ช่างฝีมือดีที่ทำอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณมาช่วยตกต่างให้จนงานสำเร็จ ด้านค่าจ้างนั้นจ้างเป็นรายวัน วันละ ๖๐๐ บาท หากทำกลางคืนเพิ่มเติมได้คืนละ ๓๐๐ บาท เมื่อเสร็จงานผมมีรายได้ประมาณ ๑๘๐,๐๐๐ บาท

“ในวันที่นำสะหลุงหลวงขึ้นไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่พระตำหนักภูพิงค์ฯ ผมไปร่วมกับชาวบ้านบ้านวัวลายด้วย ไปกับนายดวงจันทร์ สุวรรณเนตร มีชาวบ้านบ้านวัวลายไปประมาณ ๒๐ คน เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของผมที่ได้ฝากฝีมือไว้ที่สะหลุงหลวงใบนี้”

นอกจากนี้สล่ามานพ ไชยแก้ว ยังได้มีโอกาสแกะลวดลายสะหลุงหลวงที่ทางจังหวัดเชียงใหม่จัดทำขึ้นเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในวโรกาสพระชนมายุครบ ๗ รอบในปี พ.ศ.๒๕๔๒ และแกะลวดลายสะหลุงหลวงที่จังหวัดลำพูนจัดสร้างเพื่อใช้บรรจุน้ำพระพุทธมนต์สำหรับสรงอนุสาวรีย์พระนางจามเทวีอีกด้วย

พล.ต.ต.อนุ เนินหาด เรียบเรียง

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มช. จัดงานเปิดบ้านวิชาการ 𝐂𝐀𝐌𝐓 𝐎𝐏𝐄𝐍 𝐇𝐎𝐔𝐒𝐄 𝟐𝟎𝟐𝟒 – 𝐁𝐎𝐎𝐒𝐓 𝐘𝐎𝐔𝐑 𝐒𝐊𝐈𝐋𝐋𝐒 🚀
บทความถัดไปSeafood from Norway เดินสายสู่เชียงใหม่กับแคมเปญ “Norwegian Thai Taste วัตถุดิบอันล้ำค่า…สู่อาหารไทย 4 ภาค”