หน้าแรก ข่าวเชียงใหม่ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เตรียมยกระดับอาหารพื้นถิ่นด้วยนวัตกรรม

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เตรียมยกระดับอาหารพื้นถิ่นด้วยนวัตกรรม

189
0

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เตรียมยกระดับอาหารพื้นถิ่นด้วยนวัตกรรม โดยบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา จัดกิจกรรมถอดรหัสอาหารพื้นถิ่นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 พร้อมดันเป็นของฝากสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า

นายวีรพงษ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการให้เกิดการแข่งขัน และสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเกษตรแปรรูป ในพื้นที่ของ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้จัดทำกิจกรรมถอดรหัสอาหารพื้นถิ่นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Hyperlocal Food Decoding) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมภาคธุรกิจของอาหารพื้นถิ่นด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์อาหาร ให้มีเอกลักษณ์ท้องถิ่น สร้างสรรค์โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี งานวิจัยและนวัตกรรม นำมาวิจัยและ พัฒนาอาหาร ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน

“สำหรับกลุ่มเป้าหมายในโครงการซึ่งได้แก่ วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง จำนวน 20 ชุมชน ไม่น้อยกว่า 60 คน ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการปรับปรุงกระบวนการผลิต พัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยการผสานวัฒนธรรมล้านนากับภูมิปัญญา สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการถ่ายทอดเรื่องราว เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ โดดเด่น ต่อยอดผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน และพัฒนาสู่ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนา ทำให้สินค้ามีอายุการเก็บรักษานานขึ้นและมีศักยภาพในการจำหน่าย สร้างความเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของฝากและของที่ระลึก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องสามารถสร้างรายได้ด้วยการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว

นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของอาหารวัฒนธรรมท้องถิ่น มีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารหันมาใช้พืชผักท้องถิ่นในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือแปรรูปผลิตภัณฑ์มากขึ้น เนื่องจากการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ช่วยในการเพิ่มจุดขายได้ด้วยการสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการบอกเล่าเรื่องราวของอาหารได้เป็นอย่างดี ร้านอาหาร ถือเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาได้มหาศาล ในปัจจุบันอาหารท้องถิ่นเชิงวัฒนธรรมหลายชนิดของภาคเหนือได้ถูกพัฒนาสู่สินค้าของฝากประจำท้องถิ่น สินค้ากลุ่มนี้พบว่ามีการเติบโตในเชิงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังประสบปัญหาของการนำวัตถุดิบมาแปรรูปให้ถูกต้องทำให้มีข้อจำกัดในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ดังนั้นสินค้าในกลุ่มนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องถูกยกระดับและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้

ทั้งนี้ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำกิจกรรมถอดรหัสอาหารพื้นถิ่นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Hyperlocal Food Decoding) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมภาคธุรกิจของอาหารพื้นถิ่นด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์อาหารให้มีเอกลักษณ์ท้องถิ่น โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี งานวิจัยและนวัตกรรม นำมาวิจัยและพัฒนาอาหารให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน ปรับปรุงกระบวนการผลิต ยกระดับสินค้า เพื่อให้สินค้ามีอายุการเก็บรักษานานขึ้นและมีศักยภาพในการจำหน่ายเป็นของฝากของที่ระลึก สร้างความเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาสู่ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนาและต่อยอดยกระดับการพัฒนาสินค้าเพื่อขยายโอกาสในการสร้างช่องทางการตลาดสู่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนืออย่างยั่งยืนต่อไป

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้เชียงใหม่เตรียมเปิดให้บริการ แพลตฟอร์มรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในบริเวณเขตเทศบาลเชียงใหม่
บทความถัดไปโรงเรียนชั้นนำของไทยติด 1 ใน 10 โรงเรียนสุดท้ายสำหรับรางวัลโรงเรียนยอดเยี่ยมระดับโลกปี 2024 World’s Best School Prizes 2024