มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดึงบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น “Taisei Advanced Center of Technology,Taisei Corporation” มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดันนโยบายคาร์บอนฯ เป็นศูนย์
วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับ Taisei Advanced Center of Technology, Taisei Corporation ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยมีเป้าหมายร่วมกันพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากเครือข่ายความร่วมมือ และร่วมกันพัฒนาให้เกิดงานวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในการยกระดับความสามารถด้านวัสดุการก่อสร้าง (Construction Material) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. พร้อม Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology และ MR.NAOHITO OHBA กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยเซอิ (ไทยแลนด์) จำกัด และคณะผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ NSP Exhibition Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวว่า มช. มีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม อันสอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ในเรื่องการพัฒนากลไกเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation Mechanisms Development) ที่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันให้มหาวิทยาลัยสร้างสรรค์ให้เกิดผลงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมได้ในเวลารวดเร็วขึ้น ตอบโจทย์ในเรื่องการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Carbon Neutral University) และการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและยกระดับงานวิจัยให้สอดคล้องกับพันธกิจ โดยมี อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. (STeP) และคณะวิทยาศาสตร์ มช. เป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานหลักในการพัฒนางานวิจัยให้ออกสู่รั้วมหาวิทยาลัย ควบคู่กับการแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม นั่นคือ Taisei Corporation ผู้เชี่ยวชาญและผู้นำด้านการผลิต Carbon Free Concrete เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร องค์ความรู้ทางปัญญาร่วมกัน และผลักดันให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยีนวัตกรรมซึ่งกันและกัน อีกทั้งพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการสร้างคุณค่าใหม่ (New Value) ด้วยการจัดหาโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีขั้นสูง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาสังคมเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงาน “อันจะก้าวสู่หมุดหมายเดียวกัน คือ การทำให้ความร่วมมือนี้สำเร็จเกิดเป็นการวิจัยเป็นสากลที่มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในการแสวงหาการพัฒนาที่ยั่งยืน”“และด้วยความร่วมมือนี้ เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายและปลูกฝังความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ผ่านการผสานองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและนำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเชื่อมโยงการวิจัยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป อธิการบดี มช. กล่าวทิ้งท้าย
Mr.Tsuyoshi MARUYA Executive Fellow Deputy Chief of Taisei Advanced Center of Technology กล่าวว่า “Taisei Corporation” มีแนวทางอย่างชัดเจนในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยการจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและองค์ความรู้ทางปัญญาเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมและการส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือของเราในวันนี้ จะกำเนิดเป็นผลสำเร็จของงานวิจัยระดับสากลจากผสานองค์ความรู้ของทั้งสองฝ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและการผลิตนวัตกรรมสมัยใหม่ อีกทั้งการคิดค้นโซลูชั่นที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังที่จะมีส่วน ในการลดมลภาวะการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการร่วมกันในอนาคต พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตและผลักดันสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ที่จับต้องได้ เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยและการใช้งานจริงได้อย่างราบรื่น
Mr.Haruka OZAWA เลขานุการโทประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวถึงความยินดีและชื่นชมในวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลโดยให้ความสำคัญกับผู้คนและการสร้างความยั่งยืนของทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Taisei Corporation จากการทำข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอีกขั้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมีส่วนช่วยต่อสังคมในการลดการปล่อยคาร์บอน และยิ่งมากไปกว่านั้น ยังถือเป็นโอกาสอันดีในการกระชับความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นและไทยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านขอบเขตการทำงาน
ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมระดับชาติต่อไป
ด้าน รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ในฐานะคณะดำเนินงานหลัก เผยถึง การดำเนินงานจากความร่วมมือในช่วงเวลาที่
ผ่านมาของการวิจัยและพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free อย่างต่อเนื่อง โดยการใช้คอนกรีตที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งหรือผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งคอนกรีตชนิดนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการผลิตด้วยการพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านงานวิจัยทั้งสองฝ่าย และเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารและคณาจารย์จากมช. ได้เข้าศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ พร้อมหารือแนวทางการดำเนินงานอื่น ๆ ในอนาคต ณ Taisei Advanced Center of Technology,Taisei Corporation เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นการจุดประกายความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ เพื่อเน้นย้ำการดำเนินงานร่วมกันอย่างไม่หยุดยั้งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาและก้าวสู่เป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง คือ การสนับสนุน Carbon Net Zero ของทั้งประเทศไทยและระดับนานาชาติ ผ่านการวิจัยขั้นสูงด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่และค้นหาโซลูชั่นในการพัฒนาคอนกรีตชนิด Carbon Free จากวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างต่อไป
ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของเจตนารมณ์อันแน่วแน่ทั้งสองฝ่ายในวันนี้ จะเกิดเป็นสะพานเชื่อมต่อการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะสามารถผลักดันงานวิจัยให้เกิดการต่อยอดและถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงมากขึ้นและยังเป็นการเน้นย้ำให้กับหลายๆ หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
Like (0)