วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ ลานส้มสุก อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้แถลงข่าว การดำเนินงานของ สวพส. ในปี พ.ศ. 2567 และการ เผยแพร่ผลสำเร็จการดำเนินงานของ สวพส. เพื่อก้าวสู่ปีที่ 20 ในปี พ.ศ. 2568 และสุดยอด MODEL ในการพัฒนาพื้นที่สูง “Best of the best ” พื้นที่ท้าทายแม่แจ่ม SANDBOX พร้อมผลักดันอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับสากล โดยมี นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงและนางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้
สวพส. ได้ให้ความสำคัญในงานด้านการพัฒนา โดยปัจจุบันได้ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 2,000 กลุ่มบ้าน จากพื้นที่สูงทั้งหมดที่มีจำนวน 4,205 กลุ่มบ้าน ทั้งการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ภายใต้ความร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และประชาชน โดยนำหลัก วิธีการปฏิบัติงาน และองค์ความรู้โครงการหลวง ไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ของพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน การขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ได้แก่ การสูญเสียพื้นที่ป่า การเผาและฝุ่นควัน การเสื่อมโทรมของดินและน้ำและผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น ผลการดำเนินงานในปัจจุบันได้สร้างประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่พื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน คือประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยได้รับรางวัลที่เลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2566 “Best of the Best” ภายใต้ชื่อผลงาน “คู่วิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าสมบูรณ์ ตอบโจทย์พื้นที่สูง” ที่ดำเนินการในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 11 แห่ง ของ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นรูปแบบของแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ คือ การแยกพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรออกจากกัน แล้วทำการยกระดับการประกอบอาชีพด้วยการปรับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเกษตรแบบประณีตที่ให้ผลตอบแทนสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ควบคู่กับส่งเสริมชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น สวพส.จึงมีเป้าหมายขยายผลสำเร็จข้างต้นไปแก้ไขปัญหาสำคัญบนพื้นที่สูงที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อประเทศ เช่น ปัญหาความยากจน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญๆ เช่น พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านหนองเขียว จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาพื้นที่สูงด้วยหลักและวิธีการทำงานแบบโครงการหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 และได้ดำเนินงานเกิดผลสำเร็จจนเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ โดยสวพส.ได้มุ่งดำเนินภารกิจสำคัญ อย่างครบวงจร คือ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมสำหรับใช้พัฒนาพื้นที่สูง การดำเนินงานพัฒนาบนพื้นที่สูงอย่างกว้างขวางเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญๆ โดยเฉพาะความยากจน การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยมีอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ
ทางด้านนางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุทยานหลวงราชพฤกษ์ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเรียนรู้โครงการในพระราชดำริ การเกษตร พืชสวน ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมประเพณี ภายใต้แหล่งเรียนรู้ที่สวยงาม มีมาตรฐาน และปลอดภัย เป็นแหล่งให้บริการกับประชาชน และจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ ทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและนิทรรศการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ได้จัดเทศกาลชมสวน 2566 ภายใต้แนวคิด “แอ่วสุขใจ I wanna be (e)” ซึ่งนับเป็นอีกเทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่และนักท่องเที่ยวต่างรอคอยที่จะได้ชื่นชมความงามของไม้ดอกเมืองหนาวนานาพรรณ
ภายในงานนักท่องเที่ยวจะได้ชมความสวยงามของไม้ดอกเมืองหนาวนานาพรรณนับล้านดอกที่พร้อมใจกันเบ่งบานงดงามเต็มสวน อาทิ เจอราเนียม ฟอร์เก็ตมีน็อต บีโกเนีย พิทูเนีย ซัลเวีย แพนซี คัสตี้มิลเลอร์ เดซี่ เทียนนิวกีนี ฯลฯ ที่จัดแสดงในพื้นที่ต่างๆ เช่น เรือนกล้วยไม้ : ชมความสวยงามความหลากหลายของกล้วยไม้ทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ลูกผสมในบรรยากาศที่ร่มรื่นเย็นสบาย เรือนไม้ดอก
: ชมไม้ดอกเมืองหนาว สีสันสวยงามที่เป็นการส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรบนพื้นที่สูง เรือนร่มไม้ : สวรรค์แห่งพรรณไม้ร่มชื้น ชมซุ้มไม้ใบที่สวยงาม แม้จะไม่มีสีสันแต่มองแล้วให้ความร่มรื่นชื่นใจ ดอกกุหลาบ : ชมความงามของกุหลาบกว่า 220 สายพันธุ์ รวมทั้งกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม เพื่อสร้างความรักและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม
Like (0)