เมื่อวันที่ 6 ก.ค 66 ได้มีกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนชาว อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นำโดยนายทองทิพย์ แก้วใส หัวหน้ากลุ่ม ฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน ที่ห้องรับรองภายในศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อคัดค้านการขอประทานบัตรการสัมปทานเหมืองแร่หินปูนและตั้งโรงโม่หินในเขตป่าสงวนแม่ยวมฝั่งซ้าย พื้นที่เขตรอยต่อระหว่างบ้านโป่งดอยช้าง หมู่ 13 ต.บ้านกาศ กับบ้านแพะ หมู่ 3 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง บนเนื้อที่ 132 ไร่ 97 ตารางวา ซึ่งมีปริมาณหินปูนสำรอง 53 ล้านเมตริกตัน โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย อุตสาหกรรมจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน เข้าร่วมประชุมรับฟังและชี้แจงแนวทางปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานให้รับทราบ
โดยนายทองทิพย์ แก้วใส หัวกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนชาว อ.แม่สะเรียง กล่าวในที่ประชุมว่า ที่พาคณะเดินทางมายังจังหวัด เพื่ออยากทราบความคืบหน้าว่ายังจะมีการเดินหน้าในการขอประทานบัตรในการสัมปทานเหมืองแร่หินปูนในเขตพื้นที่ อ.แม่สะเรียงต่อไปหรือว่ายุติโครงการไปแล้ว เพราะชาวแม่สะเรียงหลายหมู่บ้านมีความกังวลใจ ในรอบด้าน ทั้งผลกระทบต่อป่าที่จะถูกทำลาย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านดูแลรักษาฟื้นฟูป่าบริเวณพื้นที่โครงการเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียงจากแรงสั่นสะเทือนของการระเบิดหิน ซึ่งจะทำให้รัศมีการกระจายของฝุ่นละอองและเสียงออกไปทั่ว สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวแม่สะเรียงอย่างแน่นอน เนื่องจากพื้นที่ที่ขอสัมปทานเหมืองแร่อยู่ใกล้ชุมชน รวมถึงวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และอยู่ห่างตัวเมืองแม่สะเรียงไม่ถึง 1 กม. หากมีการเข้ามาสัมปทานเหมืองแร่ตามระยะเวลา 30 ปีของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่ขอประทานบัตรกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดไว้เป็นระยะเวลายาวนาน จะทำให้ชาวแม่สะเรียงที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโดยเฉพาะ 6 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านโป่งดอยช้าง บ้านแพะ บ้านนาคาว บ้านทุ่งพร้าว บ้านท่าข้ามและบ้านป่ากล้วยได้รับความเดือดร้อนไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ดังนั้นชาวบ้านมีการทำประชาคมในหลายหมู่บ้านแล้วต่างคัดค้านและไม่ยอมที่จะให้มีการเข้ามาสัมปทานทำเหมืองแร่ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง อย่างเด็ดขาดเพราะมองว่าจะทำให้คนแม่สะเรียงตายทั้งเป็นได้
ด้านนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวต่อกลุ่มตัวแทนผู้คัดค้านว่า” เมื่อมีบริษัทเข้ามาขอประทานบัตรในการสัมปทานเหมืองแร่ ทางอุตสาหกรรมจังหวัดก็ดำเนินการปิดประกาศให้ทราบตามระเบียบกฏหมาย แต่ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องนำมาประกอบเพื่อการพิจารณา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขึ้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน รวมถึงความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากไม่ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ หรือว่ามีกระแสคัดค้าน ก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถไปต่อได้ อย่างไรก็ตามตนได้กำชับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามขั้นตอนกฏหมาย และให้ฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ด้วย
สำหรับเบื้องหลังการคัดค้านการสัมปทานเหมืองแร่ของชาว อ.แม่สะเรียง เนื่องจากก่อนหน้านั้นทางอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีการปิดประกาศการขอประทานบัตรเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างในพื้นที่แหล่งหิน ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง มีปริมาณหินปูนสำรอง 53 ล้านเมตริกตัน บนเหนือที่ 132 ไร่ 97 ตารางวา โดยให้การสัมปทานเป็นระยะ 30 ปี จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบซ้ำเหมือนกับที่เคยมีการสัมปทานทำเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าวมาแล้วเมื่อปี 2540
โชติ นรามณฑล แม่ฮ่องสอน
Like (0)