ผศ.ดร.มุจลินทร์ ผลจันทร์ (ม.แม่โจ้) หัวหน้าทีม MJU SWAP เปิดเผยว่า ปัญหาขยะ เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ทุกประเทศมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาดังกล่าวนับวันยิ่งทวีความรุนแรงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราการเจริญเติบโตของประชากรและปริมาณการบริโภคสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น แนวทางที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ทุกประเทศให้ความสำคัญก็คือการวางนโยบายและการวางแผนการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน โดยมองการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง
ซึ่งนอกจากจะมุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยีในการกำจัดและจัดการของเสียที่เหมาะสมแล้ว ความสำเร็จของการจัดการของเสียยังต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของชุมชนและตัวบุคคลด้วย ดังนั้นการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังคนและเพิ่มองค์ความรู้ให้ชุมชนซึ่งเป็นการวางแผนการจัดการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เพื่อให้การจัดการของเสียเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการ Sustainable solid waste management and policies (SWAP) ซึ่งโครงการนี้เป็นการรวมกลุ่มการทำงานของนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านการจัดการของเสียจาก 12 ประเทศ ทั้งยุโรป ได้แก่ Hamburg University of Technology (TUHH) ประเทศเยอรมัน. I.F.O.A. – Istituto Formazione Operatori Aziendali ประเทศอิตาลี POLIBA – Politecnico Di Bari ประเทศอิตาลี และ EURO Training Educational Organization ประเทศกรีซ และเอเชีย ได้แก่ HUAF – Hue University of Agriculture and Forestry ประเทศเวียดนาม TUAF – Thai Nguyen University of Agriculture and Forestry ประเทศเวียดนาม RUA – Royal University of Agriculture, P.O. Box 2696 ประเทศกัมพูชา UHST – University of Heng Samrin Thbongkhmum ประเทศกัมพูชา COMPOSTED – Cambodian Education and Waste Management Organisation ประเทศกัมพูชา ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU) University ประเทศไทย และหลักสูตรเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (MJU) ประเทศไทย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันทำวิจัยในการพัฒนาระบบการจัดการและวางนโยบายด้านของเสียที่มั่นคงอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการสร้างบุคลากรที่มีขีดความสามารถในการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับการจัดการและวางนโยบายด้านของเสียตลอดจนการจัดการฝึกอบรมด้านเทคนิคและวิชาชีพของผู้กำจัดและจัดการขยะในประเทศเวียดนาม ประเทศไทยและประเทศกัมพูชา
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำหรับการจัดการขยะมูลฝอยจึงเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ยังได้มองการพัฒนาและความร่วมมือทางวิชาการในด้านการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางและโปรแกรมการฝึกอบรมที่นำไปสู่ความยั่งยืนถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างผู้เชี่ยวชาญในอนาคต โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี
ทั้งนี้ ในระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2566 ผศ.ดร.มุจลินทร์ ผลจันทร์ (ม.แม่โจ้) หัวหน้าทีม MJU SWAP ผู้แทนมหาวิทยาลัยฯ ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Consortium and quality committee meeting ของโครงการการจัดการและวางนโยบายด้านของเสียที่มั่นคงอย่างยั่งยืน (Sustainable solid waste management and policies (SWAP) ณ โรงแรม Movenpick Suriwongse Hotel Chiang Mai จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 20-21 มิถุนายน 2566 โดยมี ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ เพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการจากประเทศสมาชิก ทั้งในเรื่องของการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและการจัดอบรมสำหรับ T-VET course การพัฒนา Training Hub ด้านการจัดการของเสีย และกิจกรรม raising awareness สำหรับ young generation และ Public event ที่ได้ดำเนินการในประเทศต่างๆ
โดยในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ผู้จัดโครงการ ได้พาคณะฯ เข้าพบ รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้บริหารของคณะวิทยาศาสตร์ จากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมความก้าวหน้าของ Training hub สำหรับการจัดการอบรมด้านการจัดการของเสียของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ณ หลักสูตรเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้และจัดการขยะแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ลานปุ๋ยหมัก โรงบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย ก่อนเข้าเยี่ยมชมหน่วยบริการทางวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดินและการปลูกกัญชาอินทรีย์เพื่อการแพทย์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้โดยมี ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์ และมาตรฐาน IFOAM จากนั้นในวันที่ 23 มิถุนายน คณะได้เข้าเยี่ยมชมความก้าวหน้าของ Training hub สำหรับการจัดการอบรมด้านการจัดการของเสียของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วย
Like (0)