มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง (มทร.ล้านนา ลำปาง) ร่วมกับเทศบาลเมืองพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ดำเนินโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ภายใต้แผนงาน “แนวทางการบริหารจัดการขยะสำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละขนาดพื้นที่ กรณีศึกษาภาคเหนือตอนบน” กิจกรรมย่อย “การบริหารจัดการขยะสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษาเทศบาลเมืองพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ณ บ้านม่อนเขาแก้ว ตำบลพิชัย อำเมือง จังหวัดลำปาง
จัดทำโมเดลการคัดแยกขยะในชุมชนโดยได้ลงไปส่งเสริมและอบรมแนะนำการคัดแยกขยะในครัวเรือนเพื่อลดปริมาณขยะที่จะต้องส่งกำจัดบ่อขยะ โดยแยกเป็นขยะเปียก ขยะซีไซเคิล ขยะทั่วไป และ ขยะอันตราย โดยขยะเปียกได้มีการคิดค้นนำภูมิปัญญาพื้นบ้านในการปั้นหม้อดิน มาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมหม้อดินกินน้ำแกง เพื่อย่อยสลายขยะเปียกให้มีการบริหารจัดการขยะเปียกให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของ มทร.ล้านนา ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอย่างมืออาชีพ เพื่อสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์สำหรับการยกระดับชุมชน สังคม และประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศกร สุรินทร์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ลำปาง เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการประชุมหารือกับคณะผู้บริหารเทศบาลเมืองพิชัย และพี่น้องบ้านม่อเขาแก้ว ในประเด็นการจัดการขยะชุมชนที่ยั่งยืน ตนและคณะทำงานร่วมกับพี่น้องบ้านม่อนเขาแก้ว จึงได้คิดค้นนวัตกรรมที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นฐานในการต่อยอดเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยโครงการนี้จะเริ่มจากการสอนคัดแยกขยะแต่ละประเภทในระดับครัวเรือน จากนั้นจะนำขยะไปรวมกันที่กลุ่มขยะของหมู่บ้าน โดยโครงการได้ทำความร่วมมือกับร้านบังอรรีไซต์เคิลให้เข้าไปรับซื้อขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ ที่มีการคัดแยกจากชุมชนทำให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน ส่วนขยะเปียกก่อนหน้านี้มีการกำจัดโดยใส่ถุงทิ้งในถังขยะทำให้ในพื้นที่มีขยะเปียกส่งเข้าบ่อกำจัดขยะจำนวนมากทำให้ส่งกลิ่นเหม็นและใช้พื้นที่ในการฝังกลบเป็นจำนวนมาก บางบ้านมีการเททิ้ง หรือใช้เลี้ยงสัตว์ในครัวเรือน
ทางโครงการจึงมีการคิดค้นนวัตกรรม “หม้อดินกินน้ำแกง” เพื่อลดปริมาณขยะเปียก โดยการให้คนในชุมชนบ้านม่อนเขาแก้วซึ่งเป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์และมีความโดดเด่นในเรื่องภูมิปัญญาการปั้นหม้อดินเผา โดยในอดีตจะทำการปั้นหม้อดินที่ใช้บรรจุน้ำดื่มตามวิถีคนในชุมชนไว้จำหน่ายในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง หลักการทำงานของนวัตกรรมหม้อดินกินน้ำแกง คือ การนำหม้อดินเผาทรงกระบอก แล้วเจาะรูเล็กๆด้านข้าง และเจาะก้นด้านล่าง ไปฝังในหลุมที่ขุดไว้ขนาดเท่ากับหม้อดิน หรือประมาณ 80 เซ็นติเมตร ฝังให้ปากหม้อเสมอกับพื้นดิน ใส่ตระแกรงกรองเศษอาหารไว้บริเวณก้นหม้อ และเทขยะเปียกจากครัวเรือนลงไปจากนั้นปิดฝา น้ำขยะเปียกจะซึมลงดิน ขยะเปียกจะกลายเป็นขยะแห้ง โดยเราสามารถตักขยะแห้งออกมาเป็นปุ๋ยไว้ตามโคนต้นไม้ได้ ซึ่งจะทำให้ขยะเปียกไม่ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ลดปริมาณขยะที่ต้องส่งเข้าบ่อกำจัดขยะ
นอกจากนี้ นายสองเมือง วงค์ไชย นายกเทศมนตรีเมืองพิชัย ได้กล่าวเสริมว่า หลังจากที่คณะผู้วิจัยได้มอบนวัตกรรมดังกล่าวให้ชุมชนแล้ว ทางชุมชนม่อนเขาแก้วก็ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ได้ร่วมกันวางแนวทางเพื่อเป็นกติกาชุมชนในการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ และการร่วมกลุ่มกันรวบรวมขยะรีไซเคิลของชุมชน เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ของชุมชน และที่สำคัญการพัฒนานวัตกรรม ถังหม้อดินกำจัดขยะเปียก ที่บ้านม่อนเขาแก้วผลิตขึ้น โดยคณะนักวิจัยเรียกว่า “หม้อดินกินน้ำแกง” เนื่องจากสามารถปั้นหม้อดินเผาทรงกระบอก แล้วเจาะรูเล็กๆด้านข้าง และเจาะก้นด้านล่าง แล้วนำไปฝังดิน แล้วเทเศษใบไม้ เทเศษอาหาร น้ำแกงต่างๆ ลงไป เพื่อกำจัดขยะเปียก ช่วยลดการปะปนของเศษอาหารในขยะทั่วไป ลดกลิ่นขยะ ไม่เกิดการสะสมจนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค และได้ผลพลอยได้คือปุ๋ยจากธรรมชาติ
โดยชุมชนได้นำมาใช้จริง และจะขยายผลไปยังชุมชนอื่น และที่ผ่านมา นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางพร้อมคณะฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเทศบาลเมืองพิชัยและได้รับฟังการบรรยายสรุปโครงการดังกล่าว โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้ให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรมหม้อดินกินน้ำแกง” ซึ่งเป็นถังหม้อดินกำจัดขยะเปียกในครัวเรือน โดยลงพื้นที่เยี่ยมชมการปั้นหม้อดินของชุมชนบ้านม่อนเขาแก้ว รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการขยะและการดำเนินงานในด้านการรักษาความสะอาดโครงการถนนไร้ฝุ่นหน้าบ้านน่ามอง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนจังหวัดลำปางให้เป็นจังหวัดสะอาด ลดปริมาณขยะจากงต้นทาง สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืนต่อไป
(หัวหน้าโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศกร สุรินทร์ 086-8555395)
Like (0)