เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2565 เวลา 15.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ 3 พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ (Chiang Mai Art Museum) ต.ร้องวัวแดง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้มีพิธีเปิดนิทรรศการ “จิตรกรรม ลายคำ ภาพพระบฏ แรงบันดาลใจจากเมืองฮอด” โดย ท่านพระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร) รองศาสตราจารย์ ดร. (คณะบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) เป็นประธาน
ซึ่งศิลปินกลุ่มป้ายสี แต้มฝัน ปันจินตนาการ คัดลอกภาพพระบฏโบราณ, สร้างสรรค์ภาพพระบฏร่วมสมัย และภาพลายคำ บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเมืองฮอดจากอดีตสู่ปัจจุบัน ภายใต้โครงการ “การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ศิลปะวัดท่าข้าม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่” และได้นำมาจัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการ 3 พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ (Chiang Mai Art Museum) และมีกำหนดการจัดแสดง ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ถึง 8 มกราคม 2566 ก่อนนำไปติดตั้งถาวรที่พิพิธภัณฑ์วัดท่าข้าม เพื่อให้อนุชนได้ชมและทราบถึงความสำคัญของสิ่งมีค่ามาแต่โบราณ
ผ้าพระบฏ หรือ ภาพปะ-ตะ คือ ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา คำว่า บฏ มาจากคำในภาษาบาลีว่า บฏ แปลว่า ผ้าทอ หรือ ผืนผ้า ส่วนมากเป็นผ้าแถบยาว มีวาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูป เพื่อเป็นที่เคารพบูชา ใช้สำหรับการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งในสมัยพุทธกาลยังไม่มีวัดวาอารามเป็นสถานที่เผยแพร่หลักคำสอน หรือการบันทึกภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ดังนั้นภาพพระบฏจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่พระสาวกจะได้นำม้วนใส่กระบอกไม้ เพื่อออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก และง่ายแก่การเล่าเรื่องราวแก่พุทธศาสนิกชนได้ฟัง ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้น
จากการขุดค้นพบภาพพระบฏโบราณในพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นภาพพระบฏที่เก่าแก่และงดงามที่สุดในประเทศไทยจำนวน 3 ผืน โดยกรมศิลปากรที่คาดว่าจะเป็นภาพที่สร้างขึ้นในยุคของพระนางเจ้าจามเทวี ผู้สร้างเมืองลำพูน
ซึ่งขณะนี้เก็บรักษาโดยกรมศิลปากรพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (หอศิลป์เจ้าฟ้าฯ) จำนวน 1 ผืน และพิพิธภัณฑ์สถานเชียงใหม่ จำนวน 2 ผืน ซึ่งผลงานภาพพระบฏโบราณเหล่านั้น ไม่สามารถนำกลับไปติดตั้งแสดงเป็นสาธารณชนในพื้นที่อำเภอฮอดให้อนุชนได้ชมและทราบถึงความสำคัญของสิ่งมีค่าเหล่านั้นได้
ภายใต้โครงการ “การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ศิลปะวัดท่าข้าม อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่” โดยการสร้างผลงานคัดลอกภาพพระบฏโบราณจำนวน 2 ผืน และภาพพระบฏร่วมสมัยโดยฝีมือศิลปินกลุ่มป้ายสี แต้มฝัน ปันจินตนาการ จำนวน 15 ผืน และภาพลายคำอีกจำนวน 13 ชิ้นงาน เป็นการสร้างสรรค์ของศิลปินจำนวน 9 คน
คือ นายมานิตย์ โกวฤทธิ์, นายวราชานน ดิษณภัทร, นายวินัย กุดนอก, นางสาวจันทรา เวียงจันทร์, นายมานพ สีระแปง, นายสงัด อ้ายดวง, นายสุรพล พงศ์พูนวิวัฒน์, นางสาวศิริพร คะเณย์ และนางสาวปัญญดา ไชยรังศรี ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเมืองฮอดจากอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะวัดท่าข้าม ต่อไป
Like (0)