หน้าแรก ข่าวทั่วไป โครงการปล่อย “นกกาฮัง” คืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือของไทย

โครงการปล่อย “นกกาฮัง” คืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือของไทย

367
0

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ประสบความสำเร็จ
กับโครงการปล่อย “นกกาฮัง” คืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือของประเทศไทย
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน โดยสวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสวนสัตว์เชียงใหม่ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก และหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง “จัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ของการดำเนินโครงการปล่อยนกกาฮังสู่ชุมชน และความตระหนักในการอนุรักษ์นกกาฮัง”

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา นางกรองแก้ว ทัปนวัชร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ (นายวุฒิชัย ม่วงมัน) พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา จัด “กิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ และความตระหนักในการอนุรักษ์นกกาฮัง”

โดยมีนายนพรัตน์ รักษ์ไพรสาณฑ์ นายอำเภอเมืองปาน เป็นประธาน พร้อมด้วยนายพีระเมศร์ ตื้อตันสกุล ผู้แทนผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ นายเทวัญ จันทร์พรหม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน นางสุภาภรณ์ จันทร์บาง หัวหน้าฝ่ายอำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว คณะผู้วิจัยจากมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู อาจารย์ นักเรียน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชนทั่วไปในพื้นที่อาศัยโดยรอบอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ณ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง

ซึ่งสวนสัตว์เชียงใหม่ และสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เชื่อมโยงสู่ชุมชน สร้างกิจกรรมเพื่อสร้างแรงจูงใจ และสร้างจิตสำนึกในการร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการปล่อยนกกาฮัง จำนวน 1 คู่คืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือของประเทศไทย ที่จะทำการปล่อยจริงในวันที่ 27 ตุลาคม 2565 นี้


วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ และตระหนักในการอนุรักษ์นกกาฮัง (นกกก) จากแผนงานวิจัย เรื่อง “การบูรณาการจัดการประชากรและการฟื้นฟูพฤติกรรมนกกาฮัง เพื่อการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือของประเทศไทย” โดยนักวิจัยสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อ 1. เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของนกกาฮังในสภาพเพาะเลี้ยง 2. เพื่อสำรวจพื้นที่และตัวชี้วัดสำหรับการประเมินพื้นที่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติ 3. เพื่อฟื้นฟูพฤติกรรมในสภาพการเพาะเลี้ยงเพื่อให้นกมีความพร้อมสำรหรับการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และ 4. เพื่อการทำลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และการติดตามดภายหลังการปล่อยฯ ให้นกกาฮังสามารถอยู่รอดได้ในธรรมชาติ ในเขตพื้นที่ภดาคเหนือของประเทศไทย นั้น

“นกกาฮัง” หรือ “นกกก” ตัวผู้และตัวเมียโดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า และต่างกันตรงที่ตัวผู้มีตาสีแดงทับทิม โหนกมีสีดำที่ด้านหน้าและด้านท้าย ตัวเมียตาสีซีดหรือสีขาว และไม่มีสีดำที่โหนก จากกลางโหนกของนกกกลงมามีสีเหลืองอ่อนปนสีส้ม สีนี้เกิดจากต่อมน้ำมันที่ก้น เมื่อนกตายลงสีนี้จะหายไปด้วย ตอนเช้าและตอนเย็นชอบร้องเสียงดัง กก กก หรือ กาฮัง กาฮัง มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดถึงพม่า ไทย และเกาะสุมาตรา

สำหรับประเทศไทยมีทั่วไปเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน และเคยมีมากที่เกาะตะรุเตา ชนิดย่อย homrai พบบริเวณภาคเหนือ ชนิดย่อย biconnis พบทางภาคใต้ นกกกกินผลไม้ต่างๆ และสัตว์เล็ก ๆ เช่น กิ้งก่า แย้ หนู งู โดยเอาหางจับฟาดกับกิ่งไม้ให้ตายก่อน แล้วเอาปากงับตลอดตัวให้เนื้อนิ่มกระดูกแตก แล้วโยนขึ้นไปในอากาศ อ้าปากรับให้สัตว์นั้นเข้าไปในปากแล้วกลืนลงไป ถิ่นอาศัย มักอาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบเขา ซึ่งมีต้นไม้สูง ๆ ชอบอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ ฤดูผสมพันธุ์จะอยู่กันเป็นคู่ ๆ ชอบกระโดดหรือร้อง ขณะหากินร้องเสียงดังมาก เวลาบินจะกระพือปีกสลับกับร่อน เสียงกระพือปีกดังคล้ายเสียงหอบ ปกติจะเกาะตามกิ่งไม้ โดยเฉพาะต้นไม้ผลในป่า บริเวณต้นที่มีผลสุกชนิดที่ชอบ มันจะมากินทุกวันจนผลไม้หมด จึงไปหากินที่ต้นอื่น

สถานภาพปัจจุบันเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นกกกผสมพันธุ์ในหน้าหนาวจนถึงหน้าร้อน วางไข่ตามโพรงไม้สูง วางไข่ครั้งละ 1-2 ฟอง ก่อนวางไข่ตัวเมียจะเข้าไปในโพรงแล้วทำการตบแต่งโพรงก่อน ตัวผู้คาบดินผสมกับมูลของตัวเมียโบกปิดปากโพรง หรืออาจใช้อาหารที่กินเข้าไปแล้วสำรอกออกมาเพื่อปิดปากโพรง เหลือช่องไว้ตรงกลางพอให้ตัวเมียยื่นปากออกมาได้ ขณะที่ตัวเมียกกไข่และเลี้ยงลูกอยู่นี้ ตัวผู้จะหาอาหารมาเลี้ยงลูกและเมียของมัน นกกกหรือนกกาฮัง เป็นนกที่มีขนาดใหญ่มากและใหญ่ที่สุดในจำพวกนกเงือกของไทย โดยมีขนาดลำตัว 122 เซนติเมตร

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารองค์กร 053-221179 หรือ www.chiangmai.zoothailand.org ทุกวันเวลาราชการ

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้“แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร” เขียนไขโชว์ ครบ 10 ปี Cin Guitars | เชียงใหม่
บทความถัดไปSUN มอบทุนการศึกษา เพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์