หน้าแรก ข่าวทั่วไป มช. จับมือ สสน. สร้างต้นแบบ “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ส่วนหน้า” ภาคเหนือตอนบน

มช. จับมือ สสน. สร้างต้นแบบ “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ส่วนหน้า” ภาคเหนือตอนบน

305
0

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2565 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) ร่วมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ณ ห้องประชุมตะวัน กังวานพงศ์ ชั้น 4 อาคารยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 และคณะผู้บริหารของทั้งสองฝ่าย ร่วมเป็นเกียรติร่วมในงานดังกล่าว

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ วิจัย และพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ ทั้งในระดับลุ่มน้ำ จังหวัด ท้องถิ่น และชุมชน รวมทั้งแลกเปลี่ยน เสริมสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพบุคลากรร่วมกัน ให้สามารถนำผลงานมาประยุกต์ใช้ เกิดประโยชน์ ทั้งมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่า เกิดความพร้อมในการรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


.
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านน้ำ โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ 52 หน่วยงาน 12 กระทรวง เข้าสู่คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ

รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด 76 จังหวัด นอกจากนี้ได้ขยายผลการใช้งานในระดับชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ชุมชุนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เกิดเป็นเครือข่ายจัดการน้ำชุมชน มีแบบอย่างความสำเร็จทั่วประเทศ 1,816 หมู่บ้าน พร้อมขยายผลสำเร็จไปสู่ชุมชนอื่นต่อไป

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นสถาบันการศึกษาที่พร้อมด้วยความรู้และผู้เชี่ยวชาญ จากปัญหาทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน มช. จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางสนับสนุนทางวิชาการแบบครบวงจร และมีภารกิจในการจัดทำระบบฐานข้อมูลทรัพยากรน้ำ ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการส่งเสริมด้านวิชาการเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำ มช. ยังให้สำคัญกับการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมการขยายผลการนำองค์ความรู้ทางวิชาการ ไปสู่การ ต่อยอดและประยุกต์ใช้ ให้สามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม


. ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้บรรลุเป้าหมายนั้น มช. และ สสน. ตระหนักถึงความสำคัญของการผนวกองค์ความรู้ และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้เพื่อตอบโจทย์ของพื้นที่ พร้อมได้เชิญสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมบูรณาการการทำงาน ด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยมีความมุ่งหมายร่วมกันถึงความสำคัญของการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทรัพยากรน้ำมาใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต เชื่อมโยงกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชนมาใช้สนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม

พร้อมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลน้ำระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้เกิดเป็น “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้า อว. (ภาคเหนือตอนบน)” นำร่องเป็นคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติเพื่อการใช้งานในระดับภาคแห่งแรกของประเทศไทย


.
การทำงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มช. และ สสน. นั้น นอกจากจะเพื่อบรรลุเจตนารมณ์ให้เกิดการประยุกต์ใช้ วิจัย และพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเชิงพื้นที่ วางแนวทางในการร่วมกันวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการน้ำ เติมเต็มข้อมูลในระดับพื้นที่เข้าสู่คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ และคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้าฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลน้ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภายใต้การทำงานของคณะทำงาน และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดแล้วนั้น

ยังมุ่งต่อยอดให้เกิดผลความสำเร็จของการสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชน ซึ่งนับเป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานการการพัฒนาระดับท้องถิ่นและสืบสานตัวอย่างความสำเร็จให้กับชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ น้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงาน ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในท้องถิ่นต่อไป

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้เสวนาองค์ความรู้ประเพณีปอยส่างลองงานบุญของชาวไทยใหญ่ เพื่อยกระดับสู่สากล
บทความถัดไปสัมมนาผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนให้พัฒนาอย่างยั่งยืน