นักวิจัยสาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการประมง มหาวิทยาลัยพะเยา ทดลองลดต้นทุนอาหารของการเลี้ยงกบ โดยใช้หนอนแมลงวันลาย มาเพาะเลี้ยงและให้อาหารกับกบ ประสบผลสำเร็จพบว่าต้นทุนต่ำลงเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังสามารถที่จะลดปริมาณขยะจากเศษอาหารและเศษผักที่นำมาเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายดังกล่าว โดยเตรียมขยายผลสู่พี่น้องเกษตรกรทั่วไปในเร็ววันนี้
กบที่เป็นทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ตลอดจนถึงกบที่ทำการเลี้ยงไว้เป็นจำนวนมาก ภายใน พื้นที่ศูนย์ปฏิบัติการประมง ของมหาวิทยาลัยพะเยา ที่มีรูปร่างใหญ่โตและใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงที่ไม่ยาวนานมากนัก เป็นผลงานการวิจัยทดลองลดต้นทุนอาหารของการเลี้ยงกบ ที่ทางนักวิทยาศาสตร์สาขา เทคโนโลยีและนวัตกรรมการประมง คณะเกษตรศาสตร์และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ของมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ดำเนินการวิจัยขึ้น
โดยการใช้หนอนแมลงวันลาย พันธุ์ต่างประเทศ มาทำการเพาะเลี้ยงและให้เป็นอาหารกบ ซึ่งพบว่ากบมีการเจริญเติบโตที่ดีมาก และนอกจากนั้นยังมีรสชาติที่อร่อยเนื้อแน่นเป็นที่ต้องการของตลาด และยังลดต้นทุนในเรื่องอาหารเป็นอย่างมาก
โดยคุณเติมดาว ทิพย์เตโชนัก วิทยาศาสตร์สาขาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการประมง คณะเกษตรศาสตร์และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ระบุว่า ในส่วนของการเลี้ยงกบที่นี่ตอนนี้กำลังทดลองโดยการลดต้นทุนอาหาร ของการเลี้ยงกบตอนนี้ เราให้อาหารกบเป็นหนอนแมลงวันลาย ซึ่งตัวแมลงวันลาย ที่ว่านี้เราจะใช้นำมาจากจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลายที่เขาก็นำมาใช้ที่เป็นอาหารไก่หรืออาหารอะไรต่างๆบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการทดลองในส่วนของการให้อาหารสัตว์น้ำ
ตอนนี้เราเก็บผลการทดลองอยู่ ซึ่งสามารถลดต้นทุนได้ นอกจากนั้นอาหารดังกล่าวยังมีโปรตีนสูง ทำให้กบเจริญเติบโตได้ดี และที่สำคัญเรายังจะเป็นซีโร่เวส เพราะว่าอาหารที่เราใช้เลี้ยงในส่วนของหนอนแมลงวันลาย คือเศษอาหารเศษผักที่เหลือจากการเกษตรเพราะฉะนั้นสำหรับหลายหลายคนที่สนใจของการเลี้ยงกบโดยลดต้นทุนอาหาร ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง
สำหรับการเลี้ยงกบในช่วงแรกๆนั้นจะมีต้นทุนที่สูงและแพงที่สุดคืออาหารสำหรับการเลี้ยงกบช่วงแรกในการอนุบาลนั่นเอง ซึ่งในส่วนนี้การทดลองแบบนี้จะเป็นส่วนช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงได้ ซึ่งต่อไปเร็วๆนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็จะนำไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรทั่วไปได้ใช้วิธีการนี้เลี้ยงกบลดต้นทุนอาหารต่อไป
อนันต์ ข่าวพะเยา รายงาน
Like (0)