สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของหมอกควันและไฟป่าที่เกิดขึ้น โดยสวพส.มีภารกิจในการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนบนพื้นที่สูง ให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการเผาเพื่อการเกษตร เน้นการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นผลให้จุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่สูงลดลง และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า หากเอ่ยถึงปัญหาหมอกควันและไฟป่าในประเทศไทยคงจะทราบกันดีว่าปัญหานี้มีมานานหลายปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือนั้นนับว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษาภาคม 2563 เกิดจุดความร้อนสะสมในพื้นที่การดูแลของ สวพส 8 จังหวัด จำนวน7,322 จุดทำให้ป่าต้นน้ำลำธารเสียหาย และค่า PM 2.5 สูงมากก่อให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตของประชาชนซึ่งในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้นทุกส่วนของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ และที่เห็นเป็นประจำทุกปีคือการพ่นน้ำ การดับไฟป่า การจัดทำแนวกันไฟ และอีกหลาย ๆ กิจกรรม
ซึ่งยังไม่สามารถที่จะลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้ จากปัญหาดังกล่าว สวพส. ได้ขยายองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งการทำการเกษตรแบบไม่เผา โดยการจัดพื้นที่รายแปลงที่เหมาะสม เน้นการใช้พื้นที่น้อยให้มีรายได้มาก ใช้พืชผักที่ขายได้ในราคาสูงและทำได้ตลอดทั้งปี
สวพส. ได้ดำเนินงานการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยส่งเสริมการปลูกไม้ผลและกาแฟใต้ร่มเงาในพื้นที่ป่า และการประสานกับหน่วยงานภาคีในการช่วยเหลือชุมชนบนพื้นที่สูงให้มีวิถีชีวิตที่ดีและพอมีพอกินตามหลักปรัชญาเศรฐกิจพอเพียงโดยการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เมื่อชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีเวลาที่จะดูแลป่าไม้ที่อยู่รอบชุมชนมากขึ้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ทำการเกษตรที่มีไม้ยืนต้น ไม่บุกรุกทำลายป่า
โดยการทำเกษตรแบบไม่เผา ส่งผลให้ในปี 2564 นี้ จุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่การดูแลของสวพส. 8 จังหวัด มีจำนวนลดลงมากถึง 70 % เมื่อเทียบกับปี 2563 และบางพื้นที่ไม่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นเลย
ด้านนายเดชธพล กล่อมจอหอ นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงกล่าวว่า โครงการลุ่มน้ำสาละวินที่ทางสวพส.เข้าไปดำเนินการ มีพื้นที่ทั้งหมดล้านกว่าไร่ ครอบคุมพื้นที่จังหวัดตากและแม่ฮ่องสอนซึ่งเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัญหาเรื่องการเผาเพื่อทำการเกษตรเกิดขึ้นเยอะมาก
สวพส. จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินงานด้วยการสร้างความคุ้นเคยกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน และการนำองค์ความรู้จากโครงการหลวงมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่สูงในทุกมิติ เพื่อให้ชุมชนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ให้คนอยู่กับป่าได้อย่างลงตัว ส่งผลให้ปัจจุบันการเผาป่าและจุด Hotspot ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินลดลงอย่างต่อเนื่อง และบางพื้นที่อย่างพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงตามแบบโครงการหลวงสบโขงไม่เกิดจุดความร้อนแม้แต่จุดเดียวส่งผลให้ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี
“จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของสวพส. คือการลงพื้นที่และเข้าให้ถึงตัวชาวบ้าน โดยเริ่มจากผู้นำชุมชนก่อน ด้วยสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนของการพัฒนา ทำให้ชาวบ้านเปิดใจยอมรับพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และเห็นความสำคัญของปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร
ทั้งนี้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของทุกคนและเพื่อให้คงอยู่สืบต่อไปให้ลูกหลานในอนาคต ทางเดียวที่เราจะสู้ได้ คือ การนำองค์ความรู้เข้าไปแก้ปัญหา ซึ่งสิ่งนี้เป็นความตั้งใจของสวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าลดจุด Hotspot ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ให้คนและป่าอยู่ร่วมกันเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวส่งท้าย
Like (0)