เปิดตัว สภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้สิทธิเข้าถึงสิทธิและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยการมีส่วนร่วม
วันนี้(27 กันยายน 2564) เวลา 13.00 น. 15.30 น. ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค เลขที่ที่ 111 หมู่ 5 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นางลำดวน มหาวัน หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการแถลงข่าวและเปิดตัว “หน่วยประจำจังหวัดสภาของผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่” โดยมี ประธานเปิดงานนายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ,นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค,นางมลวิภา ศิริโหราชัย ประธานสภาผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ ,นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแม่เหียะ และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟัง รวมถึงมีการแถลงข่าวผ่านระบบ ZOOM อีกด้วย
ซึ่งหน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค เกิดขึ้นตามระเบียบสภาองค์กรของผู้บริโภค ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการจัดตั้งหน่วยงานประจำจังหวัด กลไกเขตพื้นที่ และการสนับสนุนหน่วยงานประจำจังหวัด กลไกเขตพื้นที่ สมาชิก และองค์กรของผู้บริโภค ของสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2564 เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคให้มีองค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็ง และมีบทบาทหน้าที่ตามระเบียบของสภาองค์กรผู้บริโภคฯ
โดยสถานการณ์ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่ยังพบว่ามีสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในทุกๆด้าน ทั้งด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยาและผิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสินค้าและบริการ ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข ด้านบริการสาธารณะ(พลังงาน) ด้านที่อยู่อาศัย ด้านขนส่งและพาหนะ และด้านการศึกษา เช่นพบอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เคมีตกค้างในพืชผัก ผลไม้จากแหล่งตลาดสดในระดับที่เป็นอันตราย
การโฆษณาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตราย เช่น ผลิตภัณฑ์โฆษณาลดปวดเมื่อยลักลอบใส่สารสเตียรอยด์ลดความอ้วนใส่สารไซบูทรามีน โฆษณาผลิตภัณฑ์โอ้อวดหลอกลวงเพื่อรักษา ซึ่งผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆมากมายเข้าถึงประชาชนได้โดยง่ายสามารถหาซื้อมาบริโภคสั่งซื้อทางโทรศัพท์ส่งทางไปรษณีย์ถึงบ้าน หรือจำหน่ายโดยผ่านผู้มีประสบการณ์การบริโภคแล้วดีจึงบอกต่อเพื่อนบ้านในชุมชน
ประกอบภาวะปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด19 มีผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างรักษา ป้องกันโรคได้หากประชาชนไม่มีความรู้เข้าใจถึงพิษภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตราย หรือหลงเชื่อโฆษณาโอ้อวดหลอกลวง นอกจากจะทำให้เสียทรัพย์ยังอาจจะทำให้เสียสุขภาพ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้สถานการณ์ด้านการศึกษา ได้รับเคสร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบจากการเก็บค่าเทอมในช่วงที่สถานการณ์โควิดจ่ายเงินไปแล้วบุตรหลานไม่ได้เรียน ค่าเทอมแพง ค่ากวดวิชาแพง แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา
ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคปี 2555 ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ สำนักงานภาคเหนือมีเป้าหมายการทำงานศูนย์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้สิทธิเข้าถึงสิทธิและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรผู้บริโภค เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิผู้บริโภคทั่วไปให้กับสมาชิกเครือข่ายและคนทั่วไป
สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมเครือข่ายและภาคีที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการดำเนินงานด้านการผลักดันการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเชิงนโยบายในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัดและในระดับชาติผลการดำเนินเด่นในช่วงที่ผ่านมาของศูนย์ ผลงานด้านการรับเรื่องร้องเรียน จากแกนนำองค์กรผู้บริโภคที่เฝ้าระวัง และเฝ้าระวังทางออนไลน์ และมีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านเพจของหน่วยงานประจำจังหวัด ในช่วงเดือน มค.2561- พค.2564 รวมเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 436 ราย
อันดับหนึ่งคือด้านอาหาร ยา เครื่องสำอางผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวน 202 ราย บริการสาธารณะจำนวน 141 ราย สินค้าบริการทั่วไปจำนวน 57 ราย บริการสุขภาพและสาธารณสุขจำนวน 26 ราย อสังหาริมทรัพย์(ที่อยู่อาศัย) จำนวน 6 ราย ด้านการเงินการธนาคารจำนวน 2 ราย สื่อและคมนาคมจำนวน 1 ราย และอื่นๆจำนวน 1 ราย
เพื่อสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 22 องค์กร และรวมตัวกันจัดตั้งเกิดสภาผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่โดยมีโครงสร้างกลไกสภาและมีหน่วยงานประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาให้กับสภาผู้บริโภคจังหวัดเชียงใหม่
สภาองค์กรของผู้บริโภค
เลขที่ 111 หมู่ 5 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
โทร 089-6331638
เพจ หน่วยงานประจำจังหวัดเชียงใหม่ สภาองค์กรของผู้บริโภค