เมื่อวันที่ 19 ส.ค 64 นายญาณทัธ สิริวัฒน์ วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับชุมชนบ้านห้วยเฮี๊ยะ ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรม “จ่าสือจา”หรืองานประเพณีกินข้าวใหม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าลาหู่ดำขึ้นที่จุดชมวิวกิกอคอบ้านห้วยเฮี๊ยะ โดยมีนายชัยพล โรจนวิสิฐ นายอำเภอปางมะผ้าเป็นประธาน ภายใต้โครงการ “พัฒนากลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาและกลุ่มชาติพันธ์ภาคเหนือ”จังหวัดแม่ฮ่องสอน การจัดนิทรรศการประวัติความเป็นมา ผลิตภัณฑ์ชุมชนเสื้อผ้าชุดแต่งกายของชนเผ่าลาหูดำ การตีมีดแบบโบราณ และประเพณีการเต้นจ่าคึ
บ้านห้วยเฮี๊ยะ ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต. ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนขนาดเล็กอยู่ติดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ชาวบ้านเป็นชนเผ่าลาหู่ดำ หรือมูเซอดำ นับถือผีบรรพบุรุษ หรือเทพเจ้า ( ฮื่อซา) เดิมบ้านห้วยเฮี๊ยะ อาศัยอยู่ดอยสามหมื่น แต่เนื่องจากสมัยก่อนชาวบ้านชอบปลูกฝิ่นจึงถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จึงย้ายไปอยู่ที่ดอยคูในประเทศเมียนมา ประมาณ 30 ปี มีผู้อาศัยอยู่ประมาณ 25 หลังคาเรือน จากนั้นก็อพยพจากดอยคูประเทศเมียนมา มาอยู่ในฝั่งไทยที่บ้านไม้ลัน ต.ปางมะผ้าประมาณ 2 ปี และก็อพยพมาอยู่ที่บ้านปางคาม ต.ปางมะผ้า 10 ปี
จากนั้นก็อพยพกระจายมาอยู่ในพื้นที่ป่าไม้เฮี๊ยะประมาณ 30 หลังคาเรือน โดยมีนายจ่ากือแหล่ะ คีรีประสิทธิ์เวช เป็นผู้นำอพยพต่อจากผู้นำคนก่อน ๆ หลังจากอพยพมาอยู่ในพื้นที่ป่าไม้เฮี๊ยะส่วนหนึ่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านผาเผือก ส่วนที่เหลืออาศัยอยู่ที่ป่าไม้เฮี๊ยะได้ราว 20 ปี จากนั้นก็ได้พากันย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านห้วยเฮี๊ยะในปัจจุบัน มีประชากรอาศัยอยู่ 65 ครัวเรือน โดยมี นายพอเจตน์ แก้วธารากุล เป็นผู้ใหญ่บ้าน การแต่งกายของชนเผ่าลาหู่ดำ หญิงสาวจะแต่งชุดยาวหลากสีแต่ละสีจะบ่งบอกถึงประวัติความเป็นมาของชนเผ่าลาหู่ดำ ส่วนแขนดำขาวจะเป็นชุดหญิงที่มีอายุ
ประเพณีกินข้าวใหม่ หรือที่เรียกตามภาษาพื้นบ้านว่า “ จ่าสือจา” เป็นการถวายสิ่งศักดิ์สิทธ์ ไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อมโยงจากจุดกำเนิด คือวิถีเกษตร เพราะเกษตรคือบ่อเกิดทั้งเรื่องวัฒนธรรมและความเชื่อ จึงทำให้ประเพณีกินข้าวใหม่ที่จัดขึ้น เมื่อพี่น้องชนเผ่าปลูกข้าว ปลูกพืชผัก ก่อนจะแบ่งปันหรือกินก็จะทำพิธีกินข้าวใหม่เสียก่อน เป็นการแลกเปลี่ยนข้าวใหม่ซึ่งกันและกันของแต่ละครอบครัว ประเพณีนี้จะเริ่มต้นเมื่อข้าวแตกรวงประมาณเดือนสิงหา-กันยาของทุกปี ประชาชนในหมู่บ้านแต่ละครอบครัวก็จะเตรียมข้าวใหม่ พืชผัก มีทั้งข้าวสาร ข้าวโพด ผักต่าง ๆ อย่างละ 1 คู่ ใส่ตะกร้าไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน เป็นการขอบคุณ ดิน น้ำ ป่าไม้ เทวดา บรรพบุรุษ ให้ลูกหลานทุกครอบครัวมีความเจริญรุ่งเรือง มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
อีกทั้งยังมีความเชื่อว่ามนุษย์เรานั้นต้องกินก่อนหนูหรือแมลงต่างๆ โดยจะมีการเต้นจ่าคึ เป็นศิลปะการแสดงประจำถิ่น เพื่อเป็นการบวงสรวงเทพเจ้า ซึ่งการเต้นจ่าคึ นั้น เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานของชนเผ่าลาหู่ มักนิยมเต้นในประเพณีกินวอ ( ปีใหม่) ประเพณีกินข้าวใหม่และพิธีกรรมเรียกขวัญ หรือทำบุญ เลี้ยงผีต่าง ๆ ซึ่งเวลาคนในชุมชนไม่สบายก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผี ส่วนการเต้นจ่าคึ คือ แคน การเต้นก็จะแตกต่างออกไปแล้วแต่จังหวัดเสียงแคนโดยผู้ใหญ่จะอยู่วงใน ผู้ชายจะอยู่วงนอก และนอกจากนี้วิถีชีวิตที่ยังหลงเหลือเป็นร่องรอยแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญา ของชนเผ่าลาหู่บ้านห้วยเฮี๊ยะ คือการตีเหลือหรือตีมีดแบบดั้งเดิมโบราณที่สืบทอดส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนานนับ 100 ปี
นายญาณทัธ สิริวัฒน์ วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ประเพณีกินข้าวใหม่ เป็นพิธีกรรมหลังผลผลิตทางการเกษตรออกดอกออกผลและก็จะนำมาประกอบพิธีกรรม โดยนำผลผลิตทางการเกษตรของแต่ละครอบครัวแลกเปลี่ยนกันทุกครอบครัว ถือเป็นการขอบคุณซึ่งกันและกัน เพื่อจะบอกว่าทั้งชุมชนของเราได้ใช้ ได้กินผลิตผลทางการเกษตรของกันและกัน ซึ่งถือปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมา โดยทางวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ร่วมกับชุมชนห้วยเฮี๊ยะ ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสืบสานขนบธรรมเนียม ประเพณีวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ดำในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีอัตลักษณ์ทรงคุณค่าและเสน่ห์ที่โดดเด่นเอื้อต่อการพัฒนาและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติศาสตร์ วิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ดำในจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้แก่ชุมชุนเพิ่มมากขึ้น
โชติ นรามณฑล แม่ฮ่องสอน
Like (0)