สทนช. ลุยศึกษาจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน หวังใช้เป็นแนวทางปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำ ที่ไม่ส่งผลต่อการไหลของน้ำ เอื้อจัดการท่วม-แล้งอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมติดตามความก้าวหน้างบกลางแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ-เก็บกักน้ำเร่งด่วนให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กำชับให้ สทนช. เร่งรัดการจัดทำผังน้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงให้มีการติดตามผลการดำเนินงานตามงบกลางของหน่วยงานต่าง ๆ รายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สทนช. ได้ลงพื้นที่ลุ่มน้ำวัง จ.ลำปาง และลุ่มน้ำปิง จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน และติดตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติงบกลาง ปี 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี
เนื่องจากลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ถือเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญในพื้นที่ตอนบนของประเทศ และส่งน้ำไปยังพื้นที่ภาคกลางที่เป็นแหล่งชุมชนและพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญ สภาพปัญหาที่พบประจำ ได้แก่ พื้นที่ชุมชนริมน้ำ อาทิ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี เทศบาลเมืองน่าน มักประสบปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี สาเหตุจากลำน้ำแคบ น้ำไหลไม่สะดวก เนื่องจากมีการรุกล้ำการใช้ประโยชน์ที่ดินสองฝั่งลำน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักต่อการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก รวมทั้งการเก็บกักน้ำในพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งยังไม่เต็มศักยภาพ
ดังนั้น สทนช. จึงต้องเร่งดำเนินโครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โดยจะมีการศึกษาและทบทวนกายภาพของพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1.แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง 2.แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา 3.แผนที่แสดงพื้นที่ประกาศภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาจากหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแผนที่แสดงสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ เพื่อใช้เป็นหลักให้หน่วยงานปฏิบัติอ้างอิงต่อไป
ขณะเดียวกัน ยังใช้แบบจำลองในกรณีศึกษาอย่างน้อย 5 กรณี ได้แก่ 1.กำหนดขอบเขตผังน้ำจากสภาพพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค (โครงข่ายถนน และช่องเปิดต่าง ๆ) ในสภาพปัจจุบัน 2.กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและช่องเปิดต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ผังน้ำไม่ให้เกิดการกีดขวางทางน้ำ 3.กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความชัดเจนในการดำเนินการ 4.กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการปรับปรุงโครงข่ายถนนและ ช่องเปิดต่าง ๆ ในพื้นที่ผังน้ำร่วมกับการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ และการเสนอเพิ่มเติมโดยผู้ศึกษา และ 5.กำหนดขอบเขตผังน้ำโดยมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การพัฒนาเมืองหรือพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญในลุ่มน้ำ ที่อาจจะส่งผลกระทบในพื้นที่ผังน้ำร่วมกับการพัฒนาโครงการที่อยู่ในแผนของหน่วยงานต่าง ๆ หรือโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษา เป็นต้น
“การศึกษาของทั้ง 4 ลุ่มน้ำในครั้งนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 16 เดือน เริ่มวันที่ 10 เมษายน 2564 และจะศึกษาแล้วเสร็จวันที่ 2 สิงหาคม 2565 โดยในแต่ละขั้นตอนการศึกษาจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จำนวน 4 ครั้งต่อลุ่มน้ำ
เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณา พร้อมสะท้อนปัญหาและความต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำผังน้ำไปใช้สนับสนุนแผนงานการป้องกันแก้ไขภัยแล้งและอุทกภัย รวมทั้งการบริหารจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำได้อีกด้วย โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำจะต้องไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำหรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากการติดตามความก้าวหน้าการจัดทำผังน้ำแล้ว ยังได้ติดตามความก้าวหน้าผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติงบกลาง ปี 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีทั้งสิ้น 4,524 โครงการ แบ่งเป็น จังหวัดเชียงใหม่ 380 โครงการ และจังหวัดลำปาง 250 โครงการ สำหรับแผนงาน/โครงการ ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จังหวัดเชียงใหม่ 103 โครงการ และจังหวัดลำปาง 67 โครงการ ซึ่ง 2 โครงการสำคัญที่ได้ลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนที่รัฐบาลให้การสนับสนุน
งบกลางในการจัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินระดับตื้น ซึ่งดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในพื้นที่ ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และระบบกระจายน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หมู่ที่ 4 ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ซึ่งทั้งสองแห่งมีผลดำเนินการที่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในช่วงฤดูแล้งมากกว่า 150 ครัวเรือน อีกทั้ง สทนช. มีแนวคิดในการขยายผลการทำโครงการธนาคารน้ำดินในพื้นที่อื่นให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนนี้และเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งหน้า ตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี.
คลิปวีดีโอ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
2 สิงหาคม 2564