หน้าแรก ข่าวเชียงใหม่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ดันเชียงใหม่นำร่องใช้บล็อคเชน ชูมาตรฐานสินค้าฮาลาล

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ดันเชียงใหม่นำร่องใช้บล็อคเชน ชูมาตรฐานสินค้าฮาลาล

364
0

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยการส่งออกสินค้าฮาลาลในประเทศไทย มูลค่าเติบโตขึ้นมากประมาณ 25 เท่า จาก 247 ล้านเหรียญสหรัฐฯขึ้นไปเป็น 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไปถูกทางโดยที่มีเรื่องของวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วย “ผอ.วินัย” ย้ำฮาลาลไม่ใช่อาหารมุสลิมเพียงอย่างเดียว ฮาลาลคืออาหารที่ปลอดภัยสำหรับคนทั้งโลก ผู้คนที่เกี่ยวข้องในตลาดฮาลาลทั้งหมดร้อยละ 95 ไม่ใช่มุสลิม ทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร หรือนายทุน ขณะที่ในวาระครบคอบ 20 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ จะนำเรื่องของฮาลาลและเทคโนโลยีมาประสานเข้าด้วยกัน พร้อมดันเชียงใหม่จังหวัดนำร่องใช้ระบบบล็อคเชนเข้ามาช่วยในเรื่องของมาตรฐานสินค้าฮาลาล ด้านศูนย์เชียงใหม่ก่อตั้งมาช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำเรื่องส่งออกสินค้าฮาลาลได้จำนวนมาก พร้อมปั้นกำลังคนมาพัฒนานำดิจิตอลมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ตลาดฮาลาลเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

คลิปข่าว

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานในวาระครบรอบ 20 ปี ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ถนนช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ร่วมต้อนรับผู้มาแสดงความยินดีทั้งภาครัฐและเอกชน

รศ.ดร.วินัย กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งตามมติ ครม.ในวันที่ 13 สิงหาคม 2546 เนื่องจากคณะรัฐมนตรีต้องการขยายการส่งออกสินค้าฮาลาลจากประเทศไทยไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ ณ ช่วงเวลานั้นมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 247 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งก็คือ 10,000 ล้านบาทในเวลานั้น แต่ว่าบังเอิญก่อนหน้านั้นประมาณ 2 ปีเกิดปัญหาที่ประเทศอินโดนิเซีย จากการปนเปื้อนสารที่ซับซ้อนมากในสินค้าอาหารฮาลาล ทางฝ่ายยุทธศาสตร์ของประเทศไทยก็เล็งเห็นว่าจะต้องนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของทางสภาพัฒน์ฯเพื่อยกระดับการรับรองสินค้าฮาลาลของประเทศไทย โดยเชิญทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาสนับสนุนเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

รศ.ดร.วินัย กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นประมาณ 8 ปี การส่งออกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาประมาณ 25 เท่า จาก 247 ล้านเหรียญสหรัฐฯขึ้นไปเป็น 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยไปถูกทางโดยที่มีเรื่องของวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ซึ่งจากนั้นในปี 2552 และ 2555 เราก็จัดตั้งสำนักงานสาขาที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นมา กรณีจังหวัดเชียงใหม่เราก็จะโดนตั้งคำถามไว้มาก ฮาลาลไปตั้งที่ปัตตานีทุกคนจะไม่มีคำถามเพราะเป็นพื้นที่ของมุสลิม แต่เชียงใหม่ล่ะคำถามที่จะต้องตอบกับสังคม และมหาวิทยาลัย หรือรัฐบาลทำไมมาตั้งที่เชียงใหม่ เราจึงอธิบายว่าฮาลาลไม่ใช่อาหารมุสลิมเพียงอย่างเดียว ฮาลาลคืออาหารที่ปลอดภัยสำหรับคนทั้งโลก แต่หากมีมุสลิมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็จะทำให้มีการขยายตลาดไปได้มาก

“จริงๆถ้าพูดถึงตลาดมุสลิมมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของตลาดโลก ครอบคลุมไปได้ 25 % ของตลาดโลก แต่ถ้าเรานับตลาดฮาลาลจะคลอบคลุมไปได้ 98% ของตลาดโลก ฮาลาลทุกคนทั่วโลกทานได้หมด ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอาร์เจนติน่า หรือประเทศอังกฤษ ก็ทานได้ ถ้าเราสร้างความเข้าใจได้มันจะขยายตลาดไปได้ดีสิ่งนี้เองที่ทำให้เราเปิดสำนักงานที่เชียงใหม่พราะว่าเราต้องการขยายตลาดไปทั้งโลก ซึ่งเชียงใหม่เองเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพมาก และทางผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ที่เชียงใหม่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เราก็มองว่างานที่อ.ภราดรทำร่วมกับเรา ในเรื่องของการวางระบบที่มีความปลอดภัยในเรื่องของฮาลาลก็จะเป็นไปด้วยกัน ในวาระครบคอบ 20 ปี เราก็จะนำเรื่องของฮาลาลและเทคโนโลยีมาประสานเข้าด้วยกัน” ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวและว่า.

ผู้คนที่เกี่ยวข้องในตลาดฮาลาลทั้งหมดร้อยละ 95 ไม่ใช่มุสลิม ผู้ประกอบการไม่ใช่มุสลิม เกษตรกรไม่ใช่มุสลิม คนที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมไม่ใช่มุสลิม นายทุนที่เข้ามาลงทุนไม่ใช่มุสลิม มุสลิมก็คือบรรดาโต๊ะอีหม่าม หรือกรรมการอิสลาม ที่จะเข้ามาช่วยรับรองว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ไม่ใช่มุสลิมทำคนทั้งโลกบริโภคได้ ตลาดฮาลาลสินค้าทั้งหมดไม่ใช่อาหารเพียงอย่างเดียวมีมูลค่าถึง 4ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทยได้เงินจากส่งออก6.1ล้านเหรียญสหรัฐฯถือว่าน้อยมากไม่ถึง1%เสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นตลาดยังมีพื้นที่อยู่มหาศาลที่ไทยเราจะเข้าไปประโยชน์จังหวัดเชียงใหม่เองต่อไปก็จะเป็นฐานสำคัญในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี โรงงานที่อยู่ในภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดเราจะใช้ระบบบล็อคเชนเข้ามาช่วยโดยมีเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่อง

ด้าน ผศ.ดร.ภราดร กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ก็ก่อตั้งมาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว เราก็ทำกิจกรรมและร่วมขับเคลื่อนกับพันธมิตรทั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีเครือข่ายมหาวิทยาลัย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และในเรื่องของภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมมาช่วยผลักดันในเรื่องของการวางระบบมาตรฐานซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล รวมถึงการช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีมากกว่า 300 ผู้ประกอบการในการส่งออกไปยังตลาดมุสลิม นอกเหนือจากนั้นเราก็ทำเรื่องการสร้างการรับรู้และพัฒนากำลังคนโดยเฉพาะน้องๆนักเรียน นักศึกษา ที่อาจจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ฮาลาลในอนาคต ให้เรียนรู้ถึงมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยวหรืออยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร และแม้กระทั่งอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารจำพวกเครื่องสำอางค์ ทั้งนี้เรื่องของฮาลาลในอนาคตยังมีอีกมากมาย เราจะต้องพัฒนานำดิจิตอลมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

Like (1)
บทความก่อนหน้านี้พบแล้วร่างเหยื่อผู้เสียชีวิตศพเหยื่อน้ำป่า ถูกกลบด้วยดินโคลนและเศษซากวัชพืช พบมือโผล่ในโรงกระเทียม
บทความถัดไปORN” ผนึก “APM” ลุยเดินสายโรดโชว์ในประเทศ ปักหมุด 15 จังหวัด 6 ก.ย.-9 ต.ค.นี้