วันที่ 19 ก.ย. 2566 จะเป็นวันสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งของ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) นั่นหมายความว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะได้ผู้นำองค์กรสานพลังคนใหม่ ซึ่งนับเป็นคนที่ 4 ตั้งแต่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้
ตลอดระยะเวลา 4 ปี ภายใต้การนำของ ‘นพ.ประทีป’ กว่า 80% หมดไปกับการรับมือวิกฤตการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ ไปจนถึงช่วงเวลาที่สังคมไทยเข้าสู่ภาวะ ‘ฟื้นฟู’ ตลอดระยะเวลา 4 ปี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีการปรับเปลี่ยนการทำงานทั้งในแง่ขององค์กร การสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีกลุ่มใหม่ ตลอดจนมีการทบทวน-ปรับปรุง ทั้งหลักเกณฑ์ แนวทาง คู่มือ ไปจนถึงการสร้างนวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก
บรรทัดถัดจากนี้ คือความคิดรวบยอดของ ‘นพ.ประทีป’ ต่อการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในฐานะเบอร์ 1 ขององค์กรสานพลัง — เชื่อมั่น ‘เครื่องมือ’ สานพลัง —
นพ.ประทีป เล่าว่า ตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อต.ค. 2562 ช่วงเวลานั้นมีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและมีผลกระทบต่อสุขภาวะในทุกมิติ ทั้งมิติของสุขภาพ มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางการเมือง ขณะเดียวกันสถานการณ์ต่างๆ ยังส่งผลกระทบมาถึงการทำงานของ สช. โดยเฉพาะกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ สช. มีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนงาน ‘นอกองค์กร’ ดังนั้นจึงได้วางเป้าหมายที่จะ ‘สานต่อ’ กับภารกิจเดิมของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ คสช. คนก่อน รวมไปถึงยกระดับสมรรถนะภายในองค์กรของ สช. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์สุขภาพต่างๆ ในอนาคต
นพ.ประทีป บอกว่า การทำหน้าที่เลขาธิการ คสช. ในสถานการณ์ที่ประเทศเจอวิกฤต ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อเครื่องมือ ‘สานพลัง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ว่าสามารถขับเคลื่อนในเชิงนโยบายสาธารณะของประเทศได้จริง ซึ่งจากการทำงานยิ่งพบว่าเครื่องมือเหล่านั้นถูกออกแบบมาอย่างดี มีประสิทธิภาพและมีพลังอย่างมากในการขับเคลื่อนรูปธรรมของนโยบายสาธารณะให้เกิดขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พบว่าเครื่องมือเหล่านั้นเป็น ‘กลไกที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือ’ จากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันทำงานในพื้นที่ด้านสุขภาวะให้มีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาคี ที่สามารถเชื่อมไปยังภาพใหญ่ของสถานการณ์สุขภาพในประเทศ หรือตรงกับนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ
“ก่อนมา สช. ผมเองทำงานในระบบราชการมานาน และเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของระบบราชการ แต่กับเครื่องมือ Soft side ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ถือว่ามีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยหนุนเสริม Hard side หรือนโยบายหลักของประเทศได้จริง ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19” นพ.ประทีป ระบุ
นพ.ประทีป ยกตัวอย่างการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ชุมชนเกิดการร่วมกันวางมาตรการป้องกันพื้นที่ มีการตรวจสอบซักถามบุคคลการเดินทางเข้า-ออกในชุมชน รวมไปถึงมีพื้นที่กักตัวผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงในชุมชนเอง ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะการมีส่วนร่วมและใช้เครื่องมือตามกลไกที่มี ทำให้ชุมชนไม่แตกตื่นกับการระบาด และมีมาตรการสู้กับโควิด-19 เพื่อปกป้องคนในชุมชนเอง ซึ่งก็ทำให้ภาพรวมของฟังก์ชั่นการป้องกันการระบาดของทั้งประเทศได้ผลเป็นอย่างดี
“ภาครัฐได้เห็นพลังจากชุมชน ที่เป็น Soft Side ในการเข้ามาช่วยหนุนเสริมและเอื้อต่อนโยบาย ภาครัฐเห็นกำลังเหล่านี้อยู่ ซึ่งภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์ในการทำงานร่วมกันได้ แต่ประเด็นสำคัญคือการยอมรับระหว่างกัน แน่นอนอาจมีทะเลาะกันบ้างระหว่างรัฐกับประชาชน แต่ก็มีรูปธรรมการทำงานร่วมกันที่มากขึ้น” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป ยังกล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งผลสำเร็จที่เครื่องมืออย่าง การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) ที่เกิดขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ เป็นเครื่องมือที่่ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐ ในประเด็นโครงการพัฒนาต่างๆ ของประเทศ เพราะการพัฒนาทุกด้านย่อมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบตามมาด้วย การมีหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบ มีข้อมูลทางวิชาการมาหนุนเสริม และมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินด้วย ก็จะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การยอมรับร่วมกัน และลดความบอบช้ำจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนา
“เครื่องมือ HIA มีประสิทธิภาพอย่างมาก เพราะช่วยสร้างความสมดุลระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ก็ต้องการพัฒนาพื้นที่และต้องการรักษาชุมชนเอาไว้” นพ.ประทีป ย้ำ
— แขนสองข้างของ สช. —
เมื่อมองกลับเข้ามาภายในองค์กร ‘นพ.ประทีป’ จำกัดความการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการ คสช. ว่า เป็นการสานต่อภารกิจเดิม แต่เพิ่มเติมให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามทิศทางของแผนการทำงานหลักของ สช. ที่ต้องเน้น ‘แขนทั้งสองข้าง’
สำหรับ ‘แขนซ้าย’ นพ.ประทีป ให้รายละเอียดว่า จะทำหน้าที่สร้างเครือข่ายความเข้มแข็งในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาทำได้ดีอยู่แล้ว จึงทำเพียงสานต่อให้ทำต่อไป แต่ก็มีการเพิ่มเติมเป้าหมายในการหาเครือข่ายใหม่ ดึงการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามา เพราะปัจจุบันเครือข่าย สช. ค่อนข้างมีอายุมากขึ้น
ส่วน ‘แขนขวา’ ต้องทำหน้าที่ประเด็นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในเรื่องใหญ่ๆ ของสังคม ต้องสามารถเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลถึงแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม แต่แน่นอนว่า สช. ต้องไม่ใช่ผู้มีบทบาทนำหรือเป็นตัวเอกในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา เพราะทุกประเด็นมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแลครอบคลุมดีอยู่แล้ว หน้าที่ของ สช. จึงเป็นการหนุนเสริมการทำงานด้วยพลังการมีส่วนร่วมเพื่อให้นโยบายในภาพใหญ่ของประเทศ
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น เกิดการเรียนรู้และเกิดความต้องการก้าวขาเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะมากขึ้น ในมุมมองของ นพ.ประทีป บอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก สช.จึงต้องหนุนเสริมการทำงานภายใต้ฐานทุนเดิมของเขาเหล่านั้น โดยสนับสนุนกระบวนการและเครื่องมือ แต่ไม่ใช่การไปทำงานแข่งกับใคร
“ที่ผ่านมา สช. มีความสุขกับการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ที่ไม่ซับซ้อน และไม่กระทบโครงสร้างเชิงระบบมากนัก ทำให้เราเคยชินและอาจทำให้รู้สึกอิ่มตัว ก็ต้องมีการกระตุ้นและพัฒนายกระดับการทำงานให้เข้มข้นมากขึ้นไปอีก พร้อมๆ ไปกับการจับมือพันธมิตรใหม่ และสร้างเครื่องมือการสื่อสารไปทางสังคมให้มากขึ้น ตอนนี้เรามีเครื่องมือใน พ.ร.บ. สุขภาพแห่ชาติฯ ก็ต้องขยับไปหา ‘ประเด็นใหญ่’ ที่เข้าไปเสริมกับระบบสุขภาพของประเทศให้มากขึ้น ภาพรวมคือเป็นการทำงานเชิงรุกมากขึ้น” นพ.ประทีป กล่าว
— ส่งไม้ต่อเลขาธิการฯ คนใหม่ —
นพ.ประทีป เล่าต่อไปว่า ขณะนี้เริ่มมีการรับรู้และยอมรับว่าสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม หรือทุกมิติทั้งหมดในสังคม การลงทุนในด้านต่างๆ ของภาครัฐก็ต้องคำนึงถึงด้านสุขภาพของทุกคน เมื่อมีการยอมรับในเรื่องนี้ก็ช่วยให้การทำโครงการพัฒนาต่างๆ เชื่อมโยงมายังมิติของสุขภาพมีความยืดหยุ่นและง่ายมากขึ้น เพราะรัฐเองก็คำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพ และต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจำเป็นจะต้องมีการวางฉากทัศน์ของกระบวนการ และภาพของระบบสุขภาพอันพึงประสงค์เอาไว้ โดยเฉพาะกับการวางเป้าหมายการขับเคลื่อนให้สอดรับกับสถานการณ์สุขภาพที่กำลังเกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้น อย่างเช่นประเด็นเรื่องโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป คนสูงอายุมากขึ้นแต่คนเกิดน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
“สช.ก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และเริ่มหยิบประเด็นขึ้นมาขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการรับรู้ในสังคมมากขึ้น พร้อมกับหาเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ รวมถึงภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องการเข้ามาเป็นเครือข่ายใหม่ในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ เพื่อเข้ามาพูดคุยร่วมกันถึงทางออก และยกประเด็นขึ้นเป็นวาระของประเทศให้ได้” นพ.ประทีป กล่าว
อีกเรื่องคือ ‘การติดตามและรู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยี’ ต้องเป็นส่วนที่มีการศึกษาเพิ่มเติมหากจะทำนโยบายสาธารณะในอนาคต ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทำให้คนเข้าถึงได้ และใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพกับทุกคน หากใช้เทคโนโลยีสูง ราคาแพง ก็อาจส่งผลให้ประชาชนเข้าไม่ถึง แต่ต้องหาจุดลงตัวที่เหมาะสมให้ได้
งานของ สช. จำเป็นต้องผลักดันกับกระแสเหล่านี้ เราไม่อาจมีความสุขกับประเด็นความปลอดภัยความมั่นคงทางอาหาร เพราะมีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ต้องมองไปถึงการได้รับส่วนแบ่ง ผลประโยชน์จากการค้าให้ถึงชุมชน การแข่งขันทางการค้าในกลุ่มสินค้าการเกษตร และอาหาร เราต้องมองให้ใหญ่มากขึ้น นั่นคือการต่อยอดเรื่องของระบบสุขภาพ ไปเชื่อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ
ในตอนท้าย นพ.ประทีป ยังกล่าวถึงการส่งไม้ต่อให้กับ เลขาธิการ คสช.คนต่อไปที่จะเข้ามาบริหารแทนที่ โดยให้แง่มุมว่า ผู้บริหารคนใหม่ควรต่อยอดการใช้เครื่องมือใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ และสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ในพื้นที่เข้ามามากขึ้น
ขณะที่การขับเคลื่อนเรื่องข้อมูลด้านวิชาการก็ต้องหาเครือข่ายใหม่ๆ ทางวิชาการเข้ามาหนุนเสริมให้มากขึ้นด้วย และที่สำคัญจะต้องหาเครือข่ายที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะการหาพื้นที่กลางเพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีอายุราว 30 ปี และสนใจกระบวนการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้มาเจอกัน เพื่อให้ต่อยอดเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ให้ขยายออกไปได้อีก
ส่วนคุณสมบัติของ เลขาธิการ คสช. คนต่อไป ‘นพ.ประทีป’ มองว่า สิ่งสำคัญคือต้องมีพื้นฐานการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่าย มีวิธีแนวคิดการสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ที่สำคัญอาจต้องมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับฝ่ายการเมืองบ้าง หรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการเมืองภาคประชาชน
นอกจากนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีคอนเนกชั่นหลากหลาย ทั้งบนและล่าง เพื่อจะมาช่วยในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญจะต้องได้รับการยอมรับ รวมไปถึงมีสัมพันธ์ที่ดีกับภาคประชาชน เพราะการทำงานใน สช. เป็นการทำงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเชิงระบบ จะต้องอาศัยพลังของเครือข่ายภาคประชาชนและวิชาการในพื้นที่เป็นสำคัญ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.
โทร. 02-8329141