หน้าแรก ข่าวเกษตร มช.จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ยกระดับเกษตรกรเลี้ยงผึ้งในภูมิภาคฯ พร้อมแข่งขันตลาดโลก

มช.จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ยกระดับเกษตรกรเลี้ยงผึ้งในภูมิภาคฯ พร้อมแข่งขันตลาดโลก

472
0

เมื่อวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงครบวงจร” ตั้งแต่ เวลา 8.30 น. ถึง 17.00 น. ณ ห้องประชุม โรงแรม ยู นิมมาน เชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน โดยได้รับเกียรติจาก ท่าน Yang Jiong ผู้อำนวยการสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณประชาชนจีน ประจำจังหวัดเชียงใหม่ และ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ พร้อมคณาจารย์และผู้ประกอบการด้านการเลี้ยงผึ้งจากประเทศในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ประกอบด้วย ไทย จีน ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้

รองศาสตราจารย์ ดร. เทิด ดิษยธนูวัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในนามของหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อ ยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2567 โดยแผนดำเนินงานในปี พ.ศ.2566 มุ่งหวังจัดการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในด้านการผลิตอย่างครบวงจร พัฒนาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างคุ้มค่า และช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล

เนื่องจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวบรวมองค์ความรู้ และถ่ายทอดผลงานวิจัยต่าง ๆ โครงการนี้จึงช่วยยกระดับและส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงอย่างเป็นระบบ เพื่อก้าวสู่มาตรฐานสากลและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง ดังนั้นโครงการจึงดำเนินการวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงในการสำรวจสุขภาพของผึ้งและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง/อุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งและนักวิทยาศาสตร์ เพื่อติดตามสุขภาพของผึ้ง การจัดการการเลี้ยงผึ้งอย่างเป็นระบบ

สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่มีคุณภาพ เพื่อการค้าและการบริโภค พร้อมทั้งยังเป็นการแบ่งปันนโยบายทางการค้าของผลิตภัณฑ์ผึ้งที่มีคุณภาพ เช่น น้ำผึ้ง นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูล (Big data analyze) ขององค์ความรู้ที่เกิดจากดำเนินโครงการ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้กับลักษณะทางสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดภาพแบบองค์รวม เพื่อช่วยให้เห็นภาพใหญ่ในการอนุรักษ์ผึ้งเอเชียอีกด้วย

โดยปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกน้ำผึ้งจำนวน 8,945.17 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 577.64 ล้านบาท มีตลาดส่งออกหลัก คือ ประเทศเยอรมนี,ไต้หวัน และซาอุดิอาระเบีย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งของไทยและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น น้ำผึ้ง นมผึ้ง ไขผึ้ง เกสรผึ้ง และพรอพอลิส ได้ขยายตัวเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในพื้นที่ 40 จังหวัด ได้ผลผลิตน้ำผึ้งประมาณ 10,000 ตัน ทั้งยังผลิตนมผึ้ง ได้ประมาณ 200 ตัน ไขผึ้ง 300 ตัน และเกสรผึ้งประมาณ 100 ตัน สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงผึ้งค่อนข้างสูง ทั้งยังเกิดการจ้างงานในระดับชุมชนและระดับประเทศ

ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมากกว่า 10,000 คน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีการส่งเสริมและยกระดับองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งอย่างจริงจังพร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถ สามารถแข่งขันกับสินค้าน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งของไทยในตลาดโลกได้

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้จังหวัดเชียงใหม่ ลงนาม MOU พร้อมนำร่อง จัดรูปแบบการศึกษา พัฒนาทักษะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
บทความถัดไปมรกตอันดามันบุกเหนือ จัดงาน Krabi Get More Season 2 ชูกระบี่มีอะไรมากกว่าที่คิด