ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ตามรอยเครื่องปั้นดินเผาล้านนา
เมื่อวันที่ 9 -10 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ว่าที่ร้อยเอกสันติพงศ์ บุลยเลิศ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้นางสาวภาวิไล ชลามาตย์ ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ,นางสาวกาญจน์ณัฏฐา ทองคำชุม ตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน และนางสาววิริยา วชิรานุวัฒน์ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ประสานงานด้านการท่องเที่ยว เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ล้านาประจำปี2566 เส้นทางที่ 1 เส้นทางท่องเที่ยวแหล่งเครื่องปั้นดินเผาล้านนา (เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง) ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.256
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง) โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 35 คน รวมเวลา 2 วัน 1 คืน ในกิจกรรม FAM Trip ที่ 1 : เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยเครื่องปั้นดินเผาล้านนา
ปักหมุดเส้นทางและแหล่งเรียนรู้ได้แก่
เรียนรู้เรื่องราววิถีแห่งเชียงใหม่ศิลาดล อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
หากเอ่ยชื่อ เชียงใหม่ศิลาดล ดอยสะเก็ด บางคนก็นึกถึงแหล่งเครื่องเคลือบชั้นดีหรือของทานอร่อยๆ ขึ้นชื่ออย่างข้าวต้มมัด ของแม่แป๊บ คุณทัศนีย์ ยะจา เจ้าของเชียงใหม่ศิลาดล นั่นเอง ที่นี่เป็นแหล่งเครื่องเคลือบด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่ทรงคุณค่า เป็นผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น เพื่อให้เป็นสินค้าที่จะถ่ายทอดออกสู่สายตาคนทั่วโลก
อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์โดยใส่ใจในสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ทุกคนสามารถเข้ามาทำกิจกรรม รับประทานอาหารหรือท่องเที่ยวได้ แถมได้ชิมข้าวซอยและข้าวต้มมัดรสชาติเยี่ยมเป็นที่ติดใจของใครหลายๆคน โดยกิจกรรม FAM Trip ในครั้งนี้ ได้เรียนรู้การทำเครื่องเคลือบ ได้ทำกิจกรรมศิลปะการเพ้นท์ไข่ ส่งท้ายอีกด้วย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย เรื่องราวล้านนาทรงคุณค่า
ต่อมาทางคณะได้เดินทางไปยังจังหวัดลำพูน เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ตั้งอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน (เยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัย) จังหวัดลำพูน เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ได้มาจากวัดสำคัญและแหล่งโบราณคดีในจังหวัดลำพูน จำนวนกว่า 3,000 ชิ้น ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นที่รวบรวมและจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่มีอยู่มากมายในภาคเหนือของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง
ส่วนใหญ่เป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ ชิ้นส่วนของโบราณสถานภาชนะใช้สอย เครื่องประดับ ตลอดจนสิ่งของอื่นๆที่ถูกเก็บรักษาไว้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดี ที่จะได้ศึกษาเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวล้านนาในสมัยโบราณ
ไหว้พระขอพร กับตำนานพระรอด เมืองลำพูนอันลือชื่อที่วัดมหาวัน
วัดมหาวัน (มหาวันวนาราม) วัดเก่าแก่ อายุกว่า 1,300 ปี เป็นพระอารามหลวงของพระนางจามเทวี มีพระพุทธรูปปางนาคปรกที่อัญเชิญมาจากเมืองละโว้ ซึ่งเจดีย์วัดมหาวันเป็นที่บรรจุพระรอดลำพูน 1 ใน 5 พระเครื่องชุดเบญจภาคีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด มีชื่อเสียงโด่งดัง เชื่อกันว่า พระรอดมีความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังในด้านแคล้วคลาด ปราศจากภัยอันตรายและความวิบัติต่างๆ มีเสน่ห์ด้านเมตตามหานิยม ได้ลาภผลและคงกระพันชาตรี หากใครได้มากราบไหว้บูชาพระรอดก็จะพ้นภัยอันตรายทุกสิ่งปวง
ทางคณะ FAM Trip ได้มาร่วมกิจกรรมและเรียนรู้การปั้นพระรอด จากแม่พิมพ์และทำถางประทีป เพื่อการบูชา จากนั้นได้ไปเดินเที่ยวชมถนนคนเดินลำพูน ในช่วงเย็น และเข้าโรงแรมที่พัก 1 คืน
เรื่องเล่าของชามตราไก่และพิพิธภัณฑ์มีชีวิต
เช้าในวันต่อมา ทางคณะได้เดินทางสู่จังหวัดลำปาง ไปแหล่งเรียนรู้อย่างธนบดีเซรามิค ตำนานชามตราไก่ ที่ใครๆต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี ตั้งอยุ่ที่ ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ที่นี่มีเรื่องราวมากมายให้ได้ศึกษาเรียนรู้ โดยเมื่อปี พ.ศ.2498 นายอี้(ซิมหยู) แซ่ฉิน ได้ค้นพบแร่ดินขาวครั้งแรกที่บ้านปางค่า อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง และได้ร่วมก่อตั้งโรงงานทำชามไก่แห่งแรก ของจังหวัดลำปาง โดยวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมจากประเทศจีน และส่งขายไปทั่วประเทศ สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับจังหวัดลำปางจนถึงปัจจุบันนี้
และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปาง ภายในพิพิธภัณฑ์ได้ทำการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติ ต้นกำเนิดชามไก่ และเซรามิคสมัยใหม่ของบริษัทในเครือ รวมทั้งการสาธิตการผลิตชามไก่แบบโบราณ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมกระบวนการผลิตได้อย่างใกล้ชิด ทางคณะ FAM Trip ได้มาเรียนรู้และร่วมกิจกรรมการเพ้นท์จาน
บ้านพระยาสุเรนทร์ บรรยากาศเรือนเก่าสไตล์โคโลเนียล
เมืองลำปางนับว่ามีอาคารบ้านเรือนเก่าแก่และทรงคุณค่าให้ศึกษาและเที่ยวชมมากมาย บ้านพระยาสุเรนทร์ บาย มาดามมูเซอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งในสถานที่ ที่ห้ามพลาดเช่นกัน ตั้งอยู่บนถนนสุเรนทร์ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นเรือนโบราณที่อยู่คู่ลำปางมาอย่างยาวนาน อดีตเคหสถานของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาสุเรนทรราชเสนา (เจิม จารุจินดา) ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางคนแรก
ความสวยงามของอาคารยังคงโดดเด่น เป็นสง่า ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้ต้องมนต์เสน่ห์เดินทางเข้ามาชม แถมมีร้านอาหารรสเลิศ กับหลากหลายเมนู รองรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย โดยที่นี่ จะเปิดตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. และโซนบาร์ เปิดตั้งแต่เวลา 17.00 – 00.00 น. ร้านปิดทุกวันอังคาร
มิวเซียมลำปาง แลนด์มาร์คใหม่เมืองรถม้า
สถานที่แหล่งสุดท้ายของการเดินทางของคณะ FAM Trip คือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือ มิวเซียมลำปาง หนึ่งในต้นแบบของการสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้(Discovery Museum) ประเภทพิพิธภัณฑ์เมือง(City Museum) ในระดับจังหวัดลำปาง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างโครงข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในภูมิภาค และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ประเภทอื่นๆ ที่มีอยู่ทั้งในจังหวัดลำปางและจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง จัดแสดงนิทรรศการชุด “คน-เมือง-ลำปาง” ด้วยรูปแบบที่ทันสมัยผสมผสานเทคโนโลยีแบบอินเตอร์แอ๊กทีฟ โดยแบ่งออกเป็น 16 ห้องนิทรรศการ เป็นสถานที่ที่สร้างความน่าสนใจให้กับผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก
ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินกิจกรรม FAM Trip ที่ 1 : เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยเครื่องปั้นดินเผาล้านนา สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและต่อยอดในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ต่อไป
นที บุญมี /พัชรินทร์ คันธรส ข่าวมุมเหนือ รายงาน
Like (0)