หน้าแรก ข่าวเชียงใหม่ คลองแม่ข่า จากคลองไอซียูสู่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง เชียงใหม่ พร้อมเดินหน้าพัฒนาต่อ..

คลองแม่ข่า จากคลองไอซียูสู่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง เชียงใหม่ พร้อมเดินหน้าพัฒนาต่อ..

423
0

วันนี้(18 พฤศจิกายน 2565 ) ณ ห้องประชุมเทศบาลนครเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ แถลงความคืบหน้าการปรับปรุง “คลองแม่ข่า” พร้อมนำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ชมการพัฒนาสองฝั่งคลอง

นำโดย นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่พร้อมด้วย นายณภัทร ประเสริฐดี ผู้อำนวยการสำนักช่าง และ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ นักวิชาการ ศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมพูดคุยให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน จ.เชียงใหม่ ถึงความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ในการปรับปรุงคลองแม่ข่า รวมไปถึงภาพรวมการพัฒนาคลองแม่ข่า ที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งหมดในจังหวัดเชียงใหม่และการให้ความสำคัญในเรื่องของระบบบำบัดน้ำ ที่จะทำให้ระบบนิเวศน์ ของคลองแม่ข่า กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

จากนั้นคณะของเทศบาลนครเชียงใหม่ได้นำสื่อมวลชนจากหลายสำนักลงพื้นที่เยี่ยมชมน้ำแม่ข่า หรือ คลองแม่ข่า แหล่งน้ำสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุง ตามโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของสองฝั่งคลอง พร้อมปรับภูมิทัศน์ โดยเริ่มดำเนินการเฟสแรกที่ ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) พร้อมชูแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คลองแม่ข่ากลับมาเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่อีกครั้งโดยให้ความสำคัญกับการบำบัดน้ำ ควบคู่กับการทำให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน

ซึ่งน้ำแม่ข่า คลองน้ำสายหลักของชาวเชียงใหม่ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “คลองแม่ข่า” มีตันน้ำเริ่มจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นคลองที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพญามังราย โดยเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวเชียงใหม่ ทั้งเป็นเส้นทางสัญจร เป็นคูเมืองชั้นนอก และยังเป็นทางระบายน้ำ จากเดิม “คลองแม่ข่า” มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร และสร้างความชุ่มชื้นให้กับคนเชียงใหม่ แต่เมื่อความเจริญของเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้คลองแม่ข่าถูกบุกรุกและมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองโดยไม่ผ่านการบำบัด ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียมานานหลายสิบปี

เทศบาลนครเชียงใหม่จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียของสองฝั่งคลอง พร้อมปรับภูมิทัศน์ ระยะที่ 1 ถนนระแกง – ประตูก้อม (สถานีสูบน้ำเสียที่ 6) ระยะทางประมาณ 750 เมตร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน

อาทิ การออกแบบของกลุ่มสถาปนิกในพื้นที่ มีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมาร่วมหาวิธีจัดการเรื่องระบบน้ำเสีย สร้างท่อรองรับน้ำทิ้งเพื่อส่งต่อไปบำบัดที่โรงงานบำบัดน้ำเสีย มีการกวดขันเรื่องการปล่อยน้ำลงในคลองแม่ข่าอย่างเคร่งครัด การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์และพื้นที่สีเขียว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนที่มีรายได้น้อย รวมไปถึงการวางแผนเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องย้ายออกจากชุมชน และที่สำคัญคือ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการใช้พื้นที่คลองแม่ข่า เพื่อให้ชุมชนได้ดูแลบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นระบบระเบียบด้วยตนเอง

ปัจจุบัน “คลองแม่ข่า” กลับมาสร้างชีวิต เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงให้กับชุมชนสองฝั่งคลอง พัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้สัมผัสกลิ่นอายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านสองฝั่งคลอง พร้อมสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้กับชุมชน

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้โออาร์ ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน”
บทความถัดไปมอบประกาศนียบัตรหลักสูตรการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รุ่นที่ 1