นายก สสทน. ดัน บขส.อุตรดิตถ์ – เมืองเฟือง – วังเวียง – นครหลวงเวียงจันทน์ 2 เส้นทาง เข้า กกร. กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง หวังเป็นศูนย์กลางภาคเหนือเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว ระเบียงเศรษฐกิจ ไทย-ลาว-พม่า เปิดจังหวัดสู่โลกภายนอก สัมผัสรถไฟความเร็วสูงลาว – จีน -คุงหมิง
นายกิติพงษ์ วิรุฬห์ศรี นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ /นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง1 ครั้งที่2/2565 ห้องประชุมชัยนาท โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยมี นายอมรพันธ์ พูลสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ในฐานะประธาน กกร. เป็นประธานเปิดการประชุม นายฐิติ วิศวชัยวัฒน์ ประธานก่อตั้ง LIMEC ประเทศไทย นายวุฒิชัย โรจน์ทิพยรัก ประธานจัดงาน LIMEC 3 นายเพชรเกษม ส่งศิริ เลขาธิการหอการค้ากลุ่มภาคเหนือล่าง1 มาแทนประธานหอการค้า กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง1 นายปกรณ์ ด่านสีทอง ประธานหอการค้า จ.พิษณุโลก น.ส.พญา ธาราวุฒิ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พิษณุโลก นายลำยอง สอนโต ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สุโขทัย นายวิวัฒน์ ธาราวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.สุโขทัย นายเรืองเดช สุขสมบูรณ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สุโขทัย , นายยชญ์สุธา วิชัยธนพัฒน์ ประธานหอการค้า จ.เพชรบูรณ์ ,นายสุรชัย วาณิชย์ปกรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยตัวแทนจากคณะกรรมการ LIMEC ประเทศไทย หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร สมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาเกษตรกร ( พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ) เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นายกิติพงษ์ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีเรื่องแจ้งให้ทราบอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก ประเด็นการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง1 ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดทำเข้าระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง1 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาคระหว่าง อว.และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เรื่องที่สอง เส้นทาง บขส.อุตรดิตถ์-วังเวียง
โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งตนเองเป็นผู้นำเสนอแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ เป็นการนำเสนอตามขั้นตอนตามลำดับ กกร.จังหวัดอุตรดิตถ์ เข้ากรอ.จังหวัด กกร.ภาคและกรอ.ภาค ก่อนเข้าสู่คณะกรรมการ กกร.ชุดใหญ่ โดยผ่านสภาหอการค้าไทย พร้อมทั้งได้ทำเรื่องเสนอไปยังสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ช่วยผลักดันโครงการนี้ให้เกิดความสำเร็จและได้นำเสนอเส้นทาง บขส.อุตรดิตถ์-วังเวียง หรือ UVEC ( UTTARA DIT VANGVIENG ECONOMIC CORRIDOR) ที่มีการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ LIMEC (Luangprabang-Indochaina-Mawlamyine Economic Corridor) ระหว่าง หลวงพระบาง อินโดจีน เมาะลำไย 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง
ประกอบด้วย พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ ตากและอุตรดิตถ์ เป็นการเชื่อมระหว่าง 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสหภาพเมียนมา ซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และเส้นทางคมนาคมติดต่อกันได้ โดยทางประเทศไทยคือ บริเวณกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง1 “อินโดจีน” จังหวัดเพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย และจังหวัดตาก ส่วน สปป.ลาว ได้แก่ แขวงไซยะบุรี แขวงหลวงพระบาง และสภาพเมียนมา ได้แก่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ เป็นแนวทางเชื่อมโยงเมืองสำคัญจากสมาชิกทั้ง 3 ประเทศเข้าด้วยกัน มุ่งเน้นไปยังความสัมพันธ์ 5 ด้าน คือ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา สุขภาพ และโลจิสติกส์
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการทำธุรกิจมีการเคลื่อนย้ายทั้งสินค้า บริการ ผู้คน เงินทุนและสารสนเทศระหว่างกันและกัน อันจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันของประชาชนในทุกเมืองของสมาชิกทั้ง 3 ประเทศ
นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือและประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า เส้นทางการเดินรถไฟลาว-จีน เกิดขึ้นแล้ว ความเจริญจะไหลไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน จุดนี้ตนได้เดินทางเข้าออกเป็นประจำทำให้มองเห็นว่าเป็นโอกาส ซึ่งตนได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวผ่าน กรอ.จังหวัดอุตรดิตถ์ไปแล้ว
ทั้งนี้ ได้นำเสนอให้ที่ประชุม กกร.กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง1 เพื่อรับทราบถึงเส้นทาง บขส.อุตรดิตถ์-วังเวียง ผ่านเครื่องฉายภาพมัลติมีเดียร์หรือโปรเจคเตอร์ เริ่มจากสถานี บขส.อุตรดิตถ์ ไปถึงด่านภูดู่ ต.ม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก มุ่งสู่สะพานแดง เขตพื้นที่ สปป.ลาว ซึ่งเป็นถนนทางหลวงหมายเลข 11 บ้านครกข้าวดอ 48 กิโลเมตร ถึงบ้านโนนสะหวัน เข้าเส้นชะนะคาม 10 กิโลเมตร ถึงดอนเฮี่ยง 10 กิโลเมตร เข้าบ้านวังเข้าสู่เมืองหมื่น เมืองเฟือง ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ สปป.ลาว จากเมืองเฟือง 28 กิโลเมตร ขึ้นเส้นทางด่วนลาว-จีน วิ่งจากทางด่วนลาว-จีนอีก 36 กิโลเมตร ถึงพื้นที่วังเวียง ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้างขยายเส้นทาง
หากในอนาคตมีการก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะทำให้คมนาคมสะดวกสะดวกรวดเร็วมากสำหรับการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางจากอุตรดิตถ์-เมืองเฟือง-วังเวียง ระยะทางเพียง 439 กิโลเมตร
“ เมืองเฟือง เป็นเมืองที่มีความงดงามมาก ขึ้นกับแขวงเวียงจันทน์ คนในพื้นที่ใช้ชีวิตแบบเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวนยางพาราและประมงพื้นบ้าน มีหินผาที่ตั้งเด่นเป็นสง่า มีอ่างเก็บน้ำลึกที่สวยงาม แม่น้ำลีกแหล่งชุมชนคนหาปลา แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางธรรมชาติ เมืองที่มีธรรมชาติงดงาม เปรียบเสมือนสวรรค์บนดินของ สปป.ลาว ประชาชนจากพื้นที่เมืองหลวงเวียงจันทน์และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ นิยมมาพักผ่อนเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก เนื่อง จากเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ สปป.ลาว ที่อยู่ไม่ไกลากตัวเมืองเวียงจันทน์มากนัก
ส่วนเมืองวังเวียง ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ ประมาณ 150 กิโลเมตร ได้ฉายาว่า “กุ้ยหลินแห่งเมืองลาว” มีจุดเด่นพื้นที่ภูมิประเทศรอบเมืองเป็นคาสต์ เป็นที่ราบระหว่างภูเขาหินปูน มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีสระยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศชอบมาเที่ยวกันคือ “บลูลากูน อ่างน้ำสีเขียวคราม พายเรือคายัค ขึ้นบอลลูนและล่องเรือไปตามแม่น้ำซองเพื่อชมทิวทัศน์ “ นายกิติพงษ์ กล่าว
“เส้นทางการเดินรถ บขส.จากอุตรดิตถ์ – เมืองเฟือง – วังเวียง เป็นเส้นทางที่1 ด้วยระยะทาง 439 กิโลเมตร ส่วนเส้นทางที่ 2 บขส.อุตรดิตถ์ – นครหลวงเวียงจันทน์ – วังเวียง ด้วยระยะทาง 501 กิโลเมตร ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ยังหวังว่าจะเป็น (HUB) จุดเชื่อมต่อและเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภาคเหนือกับสปป.ลาว ได้อีกด้วย
หากมีการสัญจรเดินรถสาธารณะโดยสารประจำทางด้วย บขส.ด้วย 2 เส้นทางนี้ ภาคเหนือตอนล่างจะไม่ถูกตัดขาดจากรถไฟความเร็วสูงและเส้นทางด่วน ลาว-จีน สู่คุณหมิง นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือและ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวและว่า ในอนาคตหากมีการเปิดการเดินรถ บขส.อุตรดิตถ์ -เมืองเฟือง – วังเวียง และ บขส.อุตรดิตถ์ – นครหลวงเวียงจันทน์ – วังเวียง จะส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวหันมาใช้เส้นทางอุตรดิตถ์มากขึ้น
โดยเฉพาะเส้นทางการเดินรถทั้งรับและส่งจากอุตรดิตถ์ ไป สปป.ลาว พื้นที่โซนเหนือของจังหวัดอุตรดิตถ์ หากดูจากแผนที่จังหวัดอุตรดิตถ์จะเหมือนขนมเปียกปูน อำเภอท่าปลา ทองแสนขัน น้ำปาด ฟากท่าและบ้านโคก จุดเชื่อมต่อชายแดนจะได้รับอานิสงส์ประโยชน์จากการเส้นทางการเดินรถผ่านในพื้นที่ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ต้องการสัญจรไปยังพื้นที่ สปป.ลาว ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตนจะหาทางผลักดันเส้นทาง บขส.อุตรดิตถ์ เมืองเฟือง วังเวียง และ บขส.อุตรดิตถ์ นครหลวงเวียงจันทน์ วังเวียง ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้เส้นทางนี้ได้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต
โดยร่วมกับภาครัฐและเอกชนร่วมผลักดันเรื่องนี้ไปด้วยกัน เพื่อเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจ ไทย –ลาว – พม่า เปิดจังหวัดอุตรดิตถ์สู่โลกภายนอก และที่สำคัญเป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองชายแดนที่เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว และมีเส้นทางท่องเที่ยวและขนส่งที่จะเกิดประโยชน์กับนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทุนบนเส้นทางสายนี้ “
ณัฐวัฒน์ ราชประสิทธิ์ หน.ศูนย์ข่าวไทยนิวส์อุตรดิตถ์
วิรงรอง ทองอยู่ ข่าว