หน้าแรก ข่าวเชียงใหม่ 9 มิ.ย. ปลดล็อกกัญชา สสจ.พร้อมช่วยเหลือประชาชนลงทะเบียนผ่านแอพฯ

9 มิ.ย. ปลดล็อกกัญชา สสจ.พร้อมช่วยเหลือประชาชนลงทะเบียนผ่านแอพฯ

376
0

สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมช่วยเหลือประชาชนในการลงทะเบียนปลูกกัญชา
ผ่าน Application และแนะนำ การบริโภคกัญชากัญชง อย่างปลอดภัย

นางนฤมล ขันตีกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้ ทำให้พืชกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป ส่วนที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 คือสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงเท่านั้น ยกเว้นสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมี THC น้อยกว่า 0.2%W/W ไม่เป็นยาเสพติด

และยังมีการห้ามนำเข้าพืชกัญชา กัญชง ยกเว้นเมล็ดพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 กำกับดูแลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก สารสกัดกัญชา กัญชง ยังเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย ยาเสพติด ส่วนการขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีกัญชากัญชงเป็นส่วนประกอบ ก็เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา แล้วแต่กรณี

ดังนั้นประชาชนทั่วไป บริษัท หรือหน่วยงานราชการ สามารถปลูกกัญชากัญชง เพื่อใช้ดูแลสุขภาพหรือปลูกเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้ โดยให้แจ้งข้อมูลการปลูกให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านระบบการจดแจ้งการปลูก “แอพพลิเคชั่น Plookganja” ซึ่งสามารถใช้โทรศัพท์มือถือดาวน์โหลด ได้ ทั้ง Google play และ App store หรือ จดแจ้งผ่าน web application ได้ที่เว็บไซต์ https://plookganja.fda.moph.go.th

และหากไม่สามารถดำเนินการเองได้ ก็สามารถมายื่นขอให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จดแจ้งแทนให้ได้ โดยเตรียมหลักฐานคือบัตรประชาชน โทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันรหัส OTP และข้อมูลการปลูก ได้แก่

  1. สิ่งที่ปลูก จำนวนต้นที่จะปลูก (ไม่จำกัดจำนวนต้น) แหล่งที่มา
  2. รายละเอียดสถานที่ปลูก เช่น บ้านเลขที่ เลขที่โฉนดที่ดิน สถานที่สำคัญ จุดสังเกต และพิกัดการปลูก (ละติจูด ลองติจูด) ขนาดพื้นที่ที่ปลูก
  3. วัตถุประสงค์ ซึ่งมี 3 ข้อ คือเพื่อใช้ดูแลสุขภาพ เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน และเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์
    เมื่อจดแจ้งสำเร็จ ก็จะมีใบรับจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์ สามารถพิมพ์ออกมาได้
    ในส่วนของใบอนุญาตปลูกกัญชา กัญชงเดิม จะสิ้นสภาพ แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาขอความร่วมมือให้ยังทำจัดทำรายงานการปลูก การจำหน่าย เพื่อรองรับการปรับเข้าสู่ (ร่าง)พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ในอนาคตต่อไป และหากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เพิ่มหรือลดขนาดพื้นที่ปลูก ก็สามารถจดแจ้งรายละเอียดผ่านแอพพลิเคชั่น plookkanja ได้เช่นกัน

นางนฤมล ขันตีกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำส่วนของกัญชา กัญชง มาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพหรือใช้ในครัวเรือน เช่น ปรุงอาหารบริโภคเองหรือปรุงจำหน่ายได้ แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้บริโภคกัญชาอย่างปลอดภัย-โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ซึ่งมีคำแนะนำโดยย่อ ดังนี้

1.สถานประกอบกิจการอาหาร-ต้องจัดหาใบกัญชาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย(จากแหล่งปลูกที่ได้รับใบอนุญาตหรือจากการจดแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นก็ได้)

2.จัดทำข้อความแสดงว่า ร้านนี้ใช้ใบกัญชา

3.แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชา-ปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร

4.แสดงคำเตือน ดังต่อไปนี้

ก. “เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”
ข. “หากมีอาหารผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที”
ค. “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระมัดระวังในการรับประทาน”
ง. “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”

5.ห้ามแสดงสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

นอกจากนี้การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ทั้งผู้ปรุงและผู้บริโภค เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและมีความปลอดภัยด้วย เช่น ควรใช้แต่ใบกัญชา/กัญชง เท่านั้น ปริมาณที่ใส่ต่อจาน ควรประมาณ 1-2 ใบ ระมัดระวังการใช้ความร้อนเป็นเวลานาน เช่นการตุ๋น การทอดจะทำให้สาร THC ตกค้างในน้ำมันทอดได้เป็นต้น และต้องขอความร่วมมือผู้ปกครอง สอดส่องดูแล เฝ้าระวังบุตรหลาน ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี รับประทาน หรือนำไปใช้เสพเพื่อความบันเทิง ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพของทั้งผู้เสพและผู้เกี่ยวข้องได้

ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยากัญชาเพื่อการรักษาโรค สามารถไปรับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน คลินิกแผนปัจจุบัน คลินิกแพทย์แผนไทย และร้านยาได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ กัญชาทางการแพทย์ www.medcannabis.go.th
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย หรือมีปัญหาในการยื่นจดแจ้งการปลูกฯ สามารถสอบถามได้ที่ Line ของงานกัญชากัญชง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ID Line :@601rhvib

Like (0)
บทความก่อนหน้านี้โครงการพัฒนาศักยภาพการทำงานร่วมกันระหว่างอัยการและตำรวจ
บทความถัดไปอบจ.แม่ฮ่องสอน ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์