ทม.แม่เหียะรับรางวัล DGTi-con Best Paper Award ตอกย้ำนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน
ที่เทศบาลเมืองแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ นำคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ รับมอบโล่รางวัล Best Paper Award จากทีมวิจัยและทีมขับเคลื่อน แม่เหียะสมาร์ทซิตี้ นำโดย นางสาวอังคณา ปริยสิริ รองปลัดเทศบาล รักษาราชการแทนปลัดเทศบาลเมืองแม่เหียะ ที่ได้รับจากงาน DGTI-Con 2022 โดยสำนักนายกรัฐมนตรี และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) หรือดีจีเอ พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยอวดศักยภาพการบริการไปทั่วโลก
โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เตรียมโชว์ผลงานวิจัย “แม่เหียะโมเดล” จากเทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังได้รับรางวัล Best Paper Award จากงาน DGTI-Con 2022 อวดศักยภาพนักวิชาการไทยไปทั่วโลก พร้อมประเดิมลงฐานข้อมูล Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) และตีพิมพ์ใน Journal of Intelligent Informatics and Smart Technology
นายธนวัฒน์ ยอดใจ กล่าวว่า ตามที่ดีจีเอได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาครัฐ DGTI-Con 2022 เพื่อโชว์ผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาครัฐ และได้เปิดให้มีการส่งผลงานวิจัยหรือบทความวิชาการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาครัฐ
โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปเผยแพร่ในฐานข้อมูลนานาชาติของ Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) มีผู้ส่งรายงานทั้งหมด 63 ผลงาน ผ่านเข้าสู่การนำเสนอผลงานในงาน 22 ผลงาน โดยผู้นำเสนอทั้ง 22 ผลงานจะได้รับการตีพิมพ์เข้าฐานข้อมูลนานาชาติของ IEEE
สำหรับผลงานที่ได้รางวัล Best Paper Award : Digital Transformation of Public Service by Maehia Municipality เป็นผลงานจากเทศบาลเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น ประจำปี 2563 และได้มีการพัฒนาโครงการ “แม่เหียะโมเดล” เป็นระบบบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย 5 ระบบ คือ ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS) ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ E-OFFICE ระบบขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ระบบหนังสือรับรองการแจ้งออนไลน์ และระบบชำระค่าธรรมเนียมขยะออนไลน์
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ชาวแม่เหียะได้รับ คือ ประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐทั้งในเวลาราชการและนอกเวลา โดยมีช่องทางการให้บริการประชาชนผ่านระบบออนไลน์ (เว็บแอปพลิเคชัน) หรือสแกนผ่าน QR Code ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการให้บริการประชาชน และสามารถให้บริการพร้อมกันได้หลายคน อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาใช้บริการของเทศบาล ไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง
ผลของการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทำให้มีระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดเก็บหนังสืออย่างเป็นระบบ/ค้นหา/ตรวจสอบการสั่งการ/สถานะการดำเนินการ/หนังสือตกหล่น ขณะที่เจ้าหน้าที่และประชาชนสามารถติดตามการดำเนินงานของภาครัฐ เช่น รับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ การแจ้งซ่อมต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า “แม่เหียะโมเดล” ช่วยสนับสนุนนโยบายของรัฐในการให้บริการประชาชน และสามารถให้บริการแบบเว้นระยะห่างได้ พร้อมทั้งสนับสนุนเป็นต้นแบบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป
Like (0)